ระวังเจ๊ง รวมเรื่องเงินที่เจ้าของร้านอาหารพลาดบ่อย

Jun 28, 2022
ระวังเจ๊ง รวมเรื่องเงินที่เจ้าของร้านอาหารพลาดบ่อย เช็คลิสต์ข้อผิดพลาดด้านการเงินที่เจ้าของร้านอาหารมือใหม่มักจะพลาดกันบ่อยๆ มาดูกันว่าร้านเราเป็นแบบนี้รึเปล่า จะได้รีบแก้ไข ลดโอกาสการขาดทุนจนต้องปิดกิจการ

1) โฟกัสแต่รายรับไม่โฟกัสรายจ่าย หลายครั้งพบว่าเงินที่จ่ายออกไปบางส่วนไม่ได้เอามาคำนวณรายรับ-รายจ่ายในแต่ละเดือน บัญชีร้านจึงไม่สมดุลกัน ทำให้มองเห็นแต่กำไรเท่านั้น ทั้งที่ความจริงรายจ่ายทั้งหมดอาจจะเกินยอดขายไปแล้วก็ได้ ยิ่งในกรณีจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วไม่ได้นำบิลภาษีมาคำนวณด้วยก็ยิ่งทำให้รายจ่ายมากเกินความจริงไปอีก ดังนั้น ไม่ว่ารายรับหรือรายจ่ายต้องให้ความสำคัญเสมอ

2) ไม่คิดเงินเดือนตัวเอง ปกติหลายคนคิดว่าเป็นเจ้าของร้านไม่จำเป็นต้องมีเงินเดือนก็ได้ เพราะกำไรทั้งหมดเป็นของเจ้าของอยู่แล้ว ซึ่งส่งผลเสียกับร้านเป็นอย่างมาก เพราะทำให้โครงสร้างต้นทุนต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และส่งผลให้ตั้งกำไรเป้าหมายน้อยตามไปด้วยเช่นกัน เรียกว่าเสียโอกาสในการทำกำไร อีกเหตุผลคือ ถ้าไม่แยกเงินเดือนออกมาจากผลกำไร ทุนหมุนเวียนกับเงินใช้จ่ายส่วนตัวก็จะปนกันไปด้วย ซึ่งเสี่ยงกับการ “เจ๊ง” เป็นอย่างมาก

3) ละเลยค่าใช้จ่ายจิปาถะที่เกิดขึ้นรายวัน ไม่ให้ความสำคัญกับการจ่ายเงินออกไป ไม่มีการจด ใช้วิธีการจำเอา มีอะไรต้องซื้อก็ควักจ่ายตลอดโดยไม่มีการบันทึก เรื่องนี้ถ้าเป็นเดือนแรกก็พอเข้าใจได้ แต่ถ้าไม่บันทึกรายจ่ายจิปาถะให้ละเอียด จะไม่มีข้อมูลในการคำนวณรายจ่ายในเดือนถัดไป หรือส่งผลให้ยอดตัวเลขในบัญชีกับจำนวนเงินคงเหลือจริงไม่ตรงกัน

4) ไม่รู้ต้นทุนที่แท้จริง เป็นข้อที่มือใหม่พลาดกันบ่อยที่สุด หลายคนคิดว่าซื้อมาเท่าไหร่ก็เป็นต้นทุนเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วสำหรับต้นทุนวัตถุดิบแต่ละประเภทจะคิดง่ายๆแบบนั้นไม่ได้ เช่น  ปลากะพงขนาด 1 กิโลกรัม ราคา 180 บาท หรือคิดเป็น 18 บาทต่อ 100 กรัม แต่เมื่อซื้อมาแล้วต้องนำมาขอดเกล็ด เอาก้างออก เอาไส้และหัวออก ทำให้น้ำหนักเนื้อที่ใช้ได้จริง เหลือแค่ 800 กรัม ดังนั้น #ต้นทุนที่แท้จริง จึงอยู่ที่  22.5 บาทต่อ 100 กรัม ในส่วนนี้ต้องศึกษาเรื่องการคำนวณค่า Yield เพื่อหาต้นทุนที่แท้จริงให้ดีก่อนจะตั้งราคา

5) ช่องทางเงินเข้าของร้าน #ใส่บัญชีส่วนตัวเพียงบัญชีเดียว จุดนี้จะทำให้เราแยกไม่ออกระหว่างสภาพคล่องส่วนตัวกับสภาพคล่องทางธุรกิจ เพราะตัวเลขปนกันไปหมด การแยกบัญชีร้านออกมาจะช่วยให้เราเห็นยอดเงินเข้าและออกของร้านในแต่ละเดือน เห็นต้นทุนและกำไรจากธุรกิจอย่างชัดเจน ช่วยให้วิเคราะห์แนวโน้มได้ว่าจะต้องดำเนินการกับร้านต่อไปในแต่ละเดือนอย่างไรดี

6) ไม่แบ่งเงินสำรองฉุกเฉิน เหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เสมอ เราเห็นตัวอย่างได้จากช่วงโควิดที่ผ่านมา หลายร้านไม่มีทุนสำรองมากพอจะประคองร้านที่เปิดบริการไม่ได้ ไม่มีเงินจ่ายค่าจ้างพนักงาน ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่า จนต้องปิดกิจการไป ดังนั้นควรมีเงินทุนสำรองในการดำเนินงาน อย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป เป็นหลักประกันในการดำเนินธุรกิจในระยะยาว

7) ขาดการหาวิธีลดต้นทุนในร้าน สำหรับวัตถุดิบนั้นเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องซื้อ แต่เราสามารถบริหารวัตถุดิบให้คุ้มราคามากที่สุดได้ และยังช่วยลดต้นทุนได้อีกด้วย เช่น 
  •  พัฒนาเมนูใหม่จากวัตถุดิบที่เหลือจากการตัดแต่ง หรือวัตถุดิบเดิมนำมาเพิ่มเป็นเมนูอื่นที่หลากหลายขึ้น 
  •  การจัดเก็บวัตถุดิบให้ถูกวิธี ก็ช่วยลดการซื้อวัตถุดิบได้ เพราะเก็บรักษาวัตถุดิบได้นานขึ้นไม่เน่าเสียง่าย 
  •   การตัดเมนูที่ขายได้น้อยออกไป ก็จะลดการซื้อวัตถุดิบมาทิ้งได้อีกมาก ทั้งหมดนี้เป็น #วิธีลดต้นทุน ที่ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มเลย แต่ถ้าเลือกที่จะใช้เงินแก้ปัญหาแทน เช่น วัตถุดิบขึ้นราคาก็เลือกที่จะซื้อปริมาณเท่าเดิมแล้วขึ้นราคาขายเอา แบบนี้เสี่ยงที่ร้านจะเจ๊งสูงมาก

8) ไม่สนใจเรื่องภาษีในตอนนี้ อาจส่งผลกระทบต่อการเงินร้านในอนาคต เพราะภาษีเป็นหน้าที่และมีกฏหมายบังคับ สำหรับร้านอาหารต้องศึกษาให้ดีว่าจะต้องเสียภาษีอะไรบ้าง
  •  ในตอนที่ยังเป็นร้านเล็กๆ ยอดขายไม่ดีเท่าไหร่ อาจจะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปตามปกติ 
  •  แต่ถ้ายอดขายดีขึ้น ต้องมาศึกษาเรื่องการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีที่เกี่ยวข้องอีกหลายตัว 

ฟังดูยุ่งยาก แต่ถ้าศึกษาให้ดีและทำอย่างถูกต้องตั้งแต่ทีแรกจะช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างมั่นคงเป็นมืออาชีพ ไม่ต้องเสี่ยงกับการโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลังและค่าปรับอีกมหาศาลในอนาคต ก่อนจะพลาดพลั้ง ลองมาศึกษาเรื่องบัญชี การเงิน และภาษี สำหรับร้านอาหารได้ที่คอร์สบัญชีอย่างง่ายจัดการร้านอาหารได้ด้วยตนเอง โดย คุณอัสมา แวโน๊ะ กูรูด้านบัญชีและภาษี ที่จะทำให้การจัดการบัญชีเป็นเรื่องง่ายสำหรับร้านอาหาร เรียนฟรีได้ที่ =>  https://bit.ly/3xIGcqZ (คลิก “ลงชื่อเข้าใช้” มุมบนขวาก่อนเข้าสู่บทเรียน)
Explore more topics

Keep reading

Get inspired by content for restaurants.

View All Articles
What categories interest you?