ปิดช่องโหว่เงินรั่ว ที่เจ้าของร้านไม่เคยรู้ ลูกน้องไม่เคยบอก

15 ก.ค. 2562

เจ้าของกิจการคนไหนเคยเจอกับปัญหาผลกำไรอันน่าผิดหวัง ทั้ง ๆ ที่ขายดีสุด ๆ กันบ้าง นี่เราคำนวณราคาผิดไป หรือมองข้ามอะไรไปรึเปล่า หากลองค้นหาสาเหตุทุกอย่างแล้วยังไม่พบปัญหาที่ว่า ลองหันมาสังเกตพฤติกรรมของพนักงานในร้านดูสักหน่อย เพราะไม่ได้มีแค่เราที่สามารถรับเงิน หรือเข้าถึงวัตถุดิบต่าง ๆ เพียงคนเดียว ทุกขั้นตอนการดำเนินธุรกิจร้านอาหารนั้นต้องผ่านคนทำงานตั้งกี่มือ นี่อาจเป็นช่องโหว่เงินรั่วของธุรกิจที่มีสาเหตุจากลูกน้องตัวดีที่คิดไม่ซื่อ เล่นตุกติก ทั้งจากความไม่ตั้งใจ หรือจงใจด้วยความจำเป็นก็ตามแต่ ล้วนเป็นปัญหาที่เจ้าของร้านไม่อยากให้เกิดขึ้นทั้งสิ้น เพราะปัญหาเงินรั่วไหล แม้เพียงเล็กน้อยก็อาจลุกลามใหญ่โตจนยากจะแก้ไข ลองมาดูสาเหตุที่ทำให้กำไรหดจากคนลูกน้องคนใกล้ตัว เพื่อวางแผนเฝ้าระวังเอาไว้ให้ทันท่วงที ในเมื่อร้านเราขายดีแล้ว ร้านเราต้องมีกำไร อย่าให้ใครมางุบงิบไปได้ แอบลงราคาต้นทุนแพงเกินจริง หรือฮั้วกับซัพพลายเออร์ บางครั้งเจ้าของร้านก็ต้องมอบหมายหน้าที่การจ่ายของเข้าร้านให้กับลูกน้องสักคนจนอาจเกิดปัญหา อย่างกรณีที่ลูกน้องซื้อของเข้าร้านตรงตามใบสั่งครบถ้วน แต่ไม่ได้ลงราคาที่ซื้อมาตามจริง ได้ส่วนลดที่ร้านมาแต่ไม่บอก หรือแอบบวกราคาเพิ่มลงไป แล้วนำส่วนต่างเข้ากระเป๋าตัวเอง ถึงแม้จะมีการแนบบิลเงินสดกลับมาให้ตรวจสอบ แต่อย่าลืมว่าเจ้าลูกน้องตัวดีอาจปลอมแปลงขึ้นมา หรือถึงขั้นทำการฮั้วกับทางซัพพลายเออร์ให้ออกบิลในราคาที่สูงเกินจริงหวังเอาเงินส่วนต่างไป ดังนั้นเจ้าของร้านจึงต้องหมั่นออกไปหาซื้อวัตถุดิบเพื่อตรวจสอบราคาตลาดด้วยตัวเองบ่อยๆ ทั้งนี้ยังต้องเป็นคนติดต่อกับซัพพลายเออร์ที่สั่งของด้วยตนเอง เพื่อป้องกันการหมกเม็ดที่จะเกิดขึ้นในภายหลัง หรือเลือกซื้อจากผู้ขายที่มีการแจ้งราคาชัดเจน และออกใบเสร็จอย่างถูกต้องและน่าเชื่อถือ แอบกินอาหารในร้าน หรือแอบเอาของในร้านกลับบ้าน เจ้าของร้านที่ละเลยไม่หมั่นตรวจเช็คสต็อกในร้าน อาจต้องเจอกับปัญหาขาดทุน เพราะโดนลูกน้องขโมยวัตถุดิบในครัวไป ไม่ว่าจะเป็นการหยิบฉวยเอาของสด อย่างพวกผักผลไม้ในตู้เย็นกลับบ้าน การเอาอาหารที่เตรียมไว้ขายไปแอบกินหลังร้าน หรือแจ้งเจ้าของร้านว่าซื้อเนื้อหมูมา 10 กิโลกรัม แต่น้ำหนักจริงๆมีเพียงแค่ 8 กิโลกรัม แอบเอาส่วนต่างที่หายไปเป็นของตัวเอง ปัญหาเหล่านี้แก้ได้ด้วยการมีสูตรคำนวณมาตรฐาน และการเช็คสต็อกที่สม่ำเสมอ เพราะถ้าเรามีสูตร เราจะสามารถคำนวณวัตถุดิบที่ใช้ตามปริมาณจานที่ขายออกไปได้เลย และเมื่อเช็คสต็อกแล้วก็ควรมีจำนวนคงเหลือใกล้เคียง กับตัวเลขที่ได้จากการคำนวณ หากคำนวณออกมาแล้วจำนวนที่ใช้ไปห่างจากจำนวนที่นับไว้มากจริง ๆ ก็ต้องสงสัยได้ 2 กรณี คือมีของเสียเน่าทิ้งเกินความจำเป็น หรือมีการทุจริตเกิดขึ้นนั่นเอง ทั้งนี้อาจดูจุกจิก และเสียเวลาไปบ้าง แต่ก็ทำให้เรารู้ถึงปัญหาได้เร็ว ไม่บานปลายและยังเป็นการแสดงถึงความจริงจังของเจ้าของร้านต่อลูกน้องว่า เราเข้มงวดและตามเช็คอยู่ตลอดนะ ขโมยเงินยอดขายรายวัน หรือเอาเงินในร้านไปหมุนใช้จ่ายส่วนตัว บ่อยครั้งที่เจ้าของร้านไม่สะดวกอยู่เฝ้าร้านได้ตลอดเวลา และแทบทุกร้านก็มักจะจ้างพนักงานแคชเชียร์เอาไว้คอยดูแลเรื่องการเงินของทางร้าน ซึ่งปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ คือลูกน้องคิดไม่ซื่อ แอบหยิบฉวยเงินสดที่ควรเป็นกำไรของร้านไปใช้จ่ายส่วนตัว บางคนอาจขโมยจริงจัง หรือเพียงแค่ขอนำไปหมุนก่อนเดี๋ยวค่อยคืนก็ตามแต่ นี่นับเป็นปัญหาใหญ่ถึงขั้นเป็นคดีความได้เลยทีเดียว เพราะฉะนั้นจงอย่านิ่งนอนใจ หมั่นตรวจสอบบัญชียอดขายอยู่เป็นประจำ ซึ่งหากเรามีเครื่อง POS ก็จะช่วยให้ง่ายขึ้น เพราะทุกครั้งที่ขายออกจะต้องมีการบันทึกยอดขาย เมื่อปิดรอบในแต่ละวัน พนักงานจะต้องส่งยอดเงินตามตัวเลขที่ปิดบัญชีไว้ และอีก 1 มาตรการคือ อย่าทิ้งเงินสดไว้ในร้านให้มากเกินไป ต้องกำหนดไว้เลยว่า เงินทอนในลิ้นชักและเงินใช้จ่ายฉุกเฉินจะต้องมีจำนวนเท่าไหร่ และเงินยอดขายจะต้องส่งให้เจ้าของร้าน หรือนำฝากเข้าบัญชีร้านทุกวัน จุดนี้จะช่วยลดทอนความเสียหายในกรณีทุจริตเงินก้อนใหญ่ๆ ลงได้ และหากไม่ค่อยได้อยู่ดูแลร้านด้วยตัวเอง ควรหากล้องวงจรมาติดที่ร้าน ให้ช่วยสอดส่องพฤติกรรมและคอยเช็คสถานการณ์ในร้าน อาจลงทุนให้หุ้นส่วนหรือญาติคนสนิทผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเป็นคนดูแลรับเงินให้ เป็นต้น

สำรวจหัวข้อเพิ่มเติม

Keep reading

รับแรงบันดาลใจจากเนื้อหาสำหรับร้านอาหาร

ดูบทความทั้งหมด
คุณสนใจหมวดหมู่ใด