‘นัดเวลาส่ง’ หนีค่า GP รับคนละครึ่งได้ด้วย! เปิดคัมภีร์ความสำเร็จร้านซีฟู้ดขวัญใจมหาชน Seafood Aroy Delivery Category: Sales & Marketing

31 ส.ค. 2564
“ผลกระทบจากโควิดคือขายดีมากค่ะ วิธีแก้คือต้องรับคนเพิ่ม” เราไม่คาดคิดว่าจะได้รับคำตอบเช่นนี้จาก ‘คุณนุ่น - กรุณา ศรีอำพรรณ’ เจ้าของร้าน Seafood Aroy Delivery เมื่อถามถึงผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เพราะในขณะที่ร้านอาหารส่วนใหญ่แทบทุกร้านล้วนได้รับผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าวเหมือนกันหมด แต่กับร้านนี้เรียกได้ว่าเป็นโอกาส ‘ขาขึ้น’ จากการได้พูดคุยกับเจ้าของร้านอาหารซีฟู้ดที่เริ่มต้นจากการเป็น Home Kitchen เล็กๆ และค่อยๆ เติบโตมาเป็นร้านซีฟู้ดเดลิเวอรี่ขวัญใจมหาชนร้านนี้ 
จึงค้นพบว่า กรณีศึกษาของร้าน Seafood Aroy Delivery ที่ใช้วิธีการขายแบบ ‘นัดเวลาส่ง’ เพื่อหนีค่า GP แถมยังรับคนละครึ่งได้ด้วย น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการหลายๆ ร้านไม่น้อยเลยทีเดียว  

จาก Home Kitchen ขายเล่นๆ สู่ร้านอาหารทะเลเดลิเวอรี่ขวัญใจมหาชน


“ร้าน Seafood Aroy Delivery เปิดมาได้ประมาณ 7 ปีแล้วค่ะ เริ่มแรกเป็นการทำขายเล่นๆ คือตอนนั้นนุ่นเพิ่งเรียนจบปริญญาโท และไม่อยากทำงานประจำ พอดีว่าคุณแม่เปิดแผงขายอาหารทะเลอยู่ที่ตลาด อตก. เราก็เลยรับอาหารทะเลจากแม่มาต่อยอดปรุงขาย โดยเริ่มแรกทำบนคอนโดฯ ขนาด 2 ห้องนอน ซึ่งครัวก็ไม่ได้ใหญ่มาก ขนาดแก๊สก็ยังใช้แก๊สกระป๋อง ช่วงนั้นนุ่นขายแค่ขนมจีนน้ำยาปูเพียงอย่างเดียวได้ผลตอบรับดีมาก จากที่ขายได้ไม่กี่ชุดก็กลายเป็นขายได้วันละหลายร้อยชุด จนไม่สามารถที่จะทำขายบนคอนโดได้อีกต่อไป จึงต้องหาทางขยับขยายไปเช่าตึกแถว แต่ก็ยังคงรูปแบบเดิมไว้ คือมีแค่เดลิเวอรี่ ไม่มีหน้าร้านให้นั่งรับประทาน 

หลังจากนั้นก็เริ่มพัฒนาเมนูอื่นๆ ออกมาเรื่อยๆ อย่างกุ้งเผา กรรเชียงปู และกับข้าวอื่นๆ เพิ่มขึ้นจนทุกวันนี้ร้านเรามีอาหารหลายสิบเมนูแล้ว ทุกอย่างปรุงจากอาหารทะเลซึ่งมาจากแหล่งผลิตที่จังหวัดสุราษฎ์ธานีเป็นหลัก และบางทีก็มีมาจากจังหวัดอื่นๆ บ้าง ระหว่างช่วง 7 ปีที่เปิดร้านมา หลังจากที่ย้ายจากตึกแถวที่แรกแล้ว เราก็ยังย้ายมาอีกที่ เพราะขายดีขึ้นเรื่อยๆ จนต้องขยับขยายเพิ่มกำลังการผลิต ให้สามารถแบ่งเป็นแผนกต่างๆ ทั้ง แผนกปิ้งย่าง แผนกผัด ฯลฯถามว่าได้รับผลกระทบอย่างไรจากโควิด คือขายดีมากค่ะ ขายดีจนต้องหาคนมาทำงานเพิ่ม”

จากจุดเริ่มต้นแรกที่ทำเองขายเองเพียงไม่กี่คน และมีเมนูอยู่เพียงไม่กี่อย่าง คุณนุ่นก็ค่อยๆ ขยับขยายกิจการขึ้นทีละน้อยจนปัจจุบันมีทีมงานครัวอยู่เกือบสิบชีวิตแล้ว ทุกๆ วันร้าน Seafood Aroy Delivery จะส่งความอร่อยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 60-70 ออเดอร์ ซึ่งหากใครเข้าไปที่ Facebook Page ของทางร้านก็จะรู้ว่ามีผู้ติดตามอยู่มากถึงกว่า 5.6 แสนคนเลยทีเดียว! เราสงสัยว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้ร้านนี้ประสบความสำเร็จมีผู้ติดตามมากถึงขนาดนี้ เจ้าของผู้บุกเบิกร้านอย่างคุณนุ่นให้คำตอบว่า 

“สาเหตุที่ร้านเราได้รับผลตอบรับที่ดี น่าจะเป็นเพราะคุณภาพของอาหาร อย่างเนื้อปูเราก็จะใช้เฉพาะเนื้อปูก้อน และข้อดีคือความสดซึ่งเราไม่จำเป็นที่จะต้องสต็อกของ เพราะนุ่นรับมาจากคุณแม่ที่เปิดแผงขายเป็นประจำอยู่ที่ตลาด อตก. ซึ่งแม่เขาแทบจะไม่เอากำไรอะไรจากเราเลย จุดเด่นของร้าน Seafood Aroy Delivery จึงเป็นการขายอาหารทะเลสดๆ ที่รับมาแบบวันต่อวันเลย คืออย่างร้านอื่นเขาอาจจะสต็อกของ ไม่ได้รับมาสดใหม่ทุกวัน อันนี้เลยถือเป็นข้อได้เปรียบของทางร้าน”

คุณนุ่นบอกว่า สิ่งที่ร้าน Seafood Aroy Delivery เน้นที่สุดนอกจากเรื่องของคุณภาพแล้ว ยังเป็นเรื่องของการตรงต่อเวลาในการจัดส่งอาหารให้กับลูกค้า ซึ่งทางร้านใช้วิธีการ ‘นัดเวลาส่ง’ โดยจะพูดคุยกับลูกค้าให้เข้าใจก่อนว่า อาหารจะทำก่อนเวลาส่งเพียงไม่นาน เพื่อให้แน่ใจได้ว่าลูกค้าจะได้รับประทานทานอาหารในช่วงเวลาที่อร่อยที่สุด เช่น หากนัดเวลาส่งเป็นบ่ายสอง ก็จะแจ้งว่าอาหารน่าจะจัดส่งถึงช่วงเวลาประมาณ 14.00 - 14.30 น. ซึ่งจะไม่เลทไปเกินกว่านั้น ซึ่งหากเกิดอุบัติเหตุอะไรสักอย่างที่จะทำให้เลท ก็จะต้องรีบแจ้งให้ลูกค้าทราบโดยทันที แต่จะน้อยมากๆ ที่จะเกิดเคสแบบนั้นขึ้น
สารพัดเมนูอาหารทะเลหลายสิบเมนู ที่จะหมุนเวียนเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทุกวัน ไม่ซ้ำกันใน 1 สัปดาห์



จุดเด่นของร้าน Seafood Aroy Delivery


1.ไม่มีหน้าร้านให้นั่งรับประทาน ขายอาหารทะเลสดใหม่เดลิเวอรี่แบบ ‘นัดเวลาส่ง’
2.เน้นตรงต่อเวลา อาหารจะทำก่อนเวลาจัดส่งเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพื่อให้ถึงมือผู้รับในเวลาที่อร่อยที่สุด
3.วัตถุดิบอาหารทะเลสดใหม่มีคุณภาพ เพราะไม่ต้องสต็อกของ แต่รับมาแบบวันต่อวัน ของทะเลบางอย่างมาแบบเป็นๆ อยู่เลยด้วยซ้ำ แถมให้เนื้อเน้นๆ แบบจัดเต็ม
4.ราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับคุณภาพ แถมยังถูกกว่าร้านซีฟู้ดอื่นหลายๆ ร้าน เพราะแม่ของเจ้าของร้านเปิดแผงขายอาหารทะเลในตลาด ทำให้ต้นทุนถูกกว่าร้านอื่น 

ทำตลาดออนไลน์อย่างไรให้ปังจึงมีผู้ติดตามกว่า 5.6 แสนคน 


คุณนุ่นเล่าว่าตั้งแต่ทำเพจมาช่วงเปิดร้านแรกๆ ก็กันงบส่วนหนึ่งในการใช้โปรโมททั้งเพจ และโพสต์อยู่แล้ว โชคดีที่ในสมัยที่เริ่มต้นนั้นเรทค่าโฆษณาของเฟซบุ๊กยังไม่สูงมากนัก จึงค่อยๆ เก็บสะสมฐานลูกค้าและลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ ทำให้รู้เทคนิคที่ใช้ได้ผลกับร้านของตัวเอง อย่างการจัดเซ็ตอาหาร จัดโปรโมชั่น และการปรับเปลี่ยนเมนูไปในแต่ละวัน 

“เรายอมเสียงบประมาณทำการตลาดออนไลน์มาตั้งแต่แรก ตั้งแต่สมัยที่ค่าโฆษณายังไม่สูงมาก แล้วค่อยๆ สั่งสมฐานลูกค้าที่ติดตามเพจมาเรื่อยๆ จนตอนนี้ค่าโฆษณาก็ขึ้นมาเยอะมากเหมือนกัน คนที่เพิ่งเริ่มมาทำใหม่ๆ ก็น่าจะลำบาก อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้เราเองก็ยังต้องยอมเสียค่าโฆษณาอยู่ เพราะจุดเด่นของร้าน Seafood Aroy Delivery อีกอย่างคือ เราเปลี่ยนเมนูอาหารทุกวัน ไม่ได้ทำซ้ำเมนูเดิมๆ อย่างหมดวันนี้พรุ่งนี้เราก็ต้องโปรโมทเมนูใหม่เพื่อให้ลูกค้ารู้ และนอกจากช่องทางเพจเราก็ยังมี Line Official ซึ่งก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเหมือนกัน แต่อย่างที่บอกว่าเราทำตรงนี้มานานแล้ว จึงมีผู้ติดตามและฐานลูกค้าประจำอยู่เยอะมาก ทำให้ไม่ต้องเสียงบโฆษณาโปรโมทอะไรมากมาย”

เทคนิคการขายที่ช่วยเพิ่มทั้งยอดขายและฐานลูกค้าในมือ แถมยังช่วยประชาสัมพันธ์แบบปากต่อปาก


1.เปลี่ยนเมนูและโปรโมชั่นทุกวัน เมื่อเมนูในหนึ่งสัปดาห์ไม่ซ้ำกันเลยสักวัน จึงทำให้ลูกค้าไม่รู้สึกว่าจำเจ ลูกค้าประจำจึงสามารถสั่งซ้ำได้บ่อยๆ และการที่เปลี่ยนเมนูทุกวันก็ทำให้ลูกค้าคอยติดตามข่าวสารจากเพจของทางร้านด้วยว่า แต่ละวันจะทำเมนูอะไร และจัดโปรโมชั่นเด็ดๆ อะไรออกมาบ้าง
2.โปรจัดเซ็ตอาหาร ช่วยให้ลูกค้าได้รับประทานอาหารทะเลได้อย่างจุใจ ซึ่งหากสั่งแยกเมนูเดี่ยวๆ แล้วอาจจะแพงกว่า แต่ถ้าสั่งเป็นเซ็ตเมนูจะคุ้มค่ากว่า ในแต่ละวันลูกค้าประจำก็จะหมั่นเข้ามาส่องดูว่ามีเซ็ตเมนูไหนที่น่าสนใจบ้าง เพราะไม่ได้จัดเซ็ตเหมือนกันทุกวันด้วยเช่นกัน  
3.โปรอาหารพิเศษราคาถูก ในแต่ละวันยังมีเมนูโปรโมชั่นอาหารพิเศษราคาถูก ซึ่งปกติราคาเต็มอาจจะแพงกว่า โปรนี้จะหมุนเวียนเปลี่ยนอาหารพิเศษไปทุกวันเช่นกัน นอกจากลูกค้าซื้อเมนูโปรราคาถูกแล้วยังอาจจะสั่งอาหารอย่างอื่นที่ไม่อยู่ในโปรไปกินด้วย นับเป็นวิธีจูงใจเรียกลูกค้าที่ได้ผลอีกวิธีหนึ่ง


4. โปร 1 แถม 1 โปรแม่เหล็กที่ช่วยเพิ่มยอดขาย โดยในแต่ละวันทางร้านจะคิดเมนูอาหารจานเดียวประมาณ 1-2 อย่างมาจัดโปร 1 แถม 1 เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เมื่อลูกค้าสั่งแล้วยังอาจสั่งอาหารอย่างอื่นไปด้วยอีก 
5. โปรไฮไลท์ใจถึง โปรกุ้งเผา 1 กิโล แถม 1 กิโล เป็นโปรฮิตมาก ทางร้านจะใช้เฉพาะกุ้งเป็นๆ ที่ส่งตรงมาจากบ่อเจ้าประจำเท่านั้น เมื่อถามว่าทำไมถึงทำโปรใจถึงแบบนี้ได้ ทางร้านเปิดเผยว่าโปรนี้ไม่ได้เน้นกำไรเยอะ แต่เน้นขายจำนวนเยอะๆ ข้อดีก็คือ เป็นโปรที่ร้านอื่นอาจจะใจไม่ถึงที่จะทำ เมื่อทำโปรโมชั่นที่แตกต่างนี้ออกมาจึงช่วยในเรื่องของการโปรโมทแบบปากต่อปากไปได้ไกล ทั้งยังช่วยเพิ่มยอดขาย เป็นโปรโมชั่นไฮไลท์ที่ทำให้ลูกค้าติดใจ และทำให้ทางร้านประสบความสำเร็จเป็นที่รู้จักขึ้นเยอะมาก 

ขาขึ้นในช่วงโควิด & นัดเวลาส่งหนีค่า GP 


“อย่างหนึ่งที่ทำให้เราไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เหมือนกับร้านอื่น ก็เพราะตั้งแต่ไหนแต่ไรมา เราเองก็เปิดขายเฉพาะเดลิเวอรี่อยู่แล้ว เมื่อไม่ได้มีหน้าร้านจึงไม่มีค่าใช้จ่ายด้านค่าเช่า และไม่ได้มีพนักงานประจำอยู่มากมาย เมื่อเราตัดเรื่องหน้าร้านออกไปทำให้ร้านไม่ได้รับผลกระทบอะไรเหมือนกับที่หลายๆ ร้านได้รับจากโควิด กลายเป็นว่านี่เป็นโอกาสทำให้เราขายดีขึ้นมากค่ะ เพราะคนเขาอยู่บ้าน Work From Home กันจึงต้องสั่งเดลิเวอรี่ไปรับประทานที่บ้าน ร้านที่เคยเปิดให้นั่งกินก็ยังต้องปิด มันก็เลยเป็นโอกาสให้กับร้านที่ดำเนินธุรกิจแบบเดลิเวอรี่มาตั้งแต่แรกแบบเรา ด้วยฐานลูกค้าที่เดิมมีอยู่เยอะ และด้วยคุณภาพของเราทำให้ลูกค้าที่ได้ลองทานเขาไว้ใจและซื้อซ้ำอยู่แล้ว พอเกิดสถานการณ์แบบนี้ก็เลยทำให้ลูกค้านึกถึงเรามากขึ้น และเรายังได้รับคำแนะนำแบบปากต่อปากเยอะ ส่วนมากลูกค้าเองนั่นแหล่ะที่แนะนำเพื่อนๆ มาเป็นลูกค้าใหม่ให้กับเรา”

“ถามว่าทำไมเลือกที่จะขายแบบนัดเวลาส่ง คือจริงๆ แล้วเราใช้วิธีนี้มาตั้งแต่ต้น และก็มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เราก็เคยลองใช้แอปฯ เดลิเวอรี่บางเจ้าอยู่ด้วยนะคะ แต่ตอนนี้แทบจะไม่ได้ใช้แล้ว เพราะค่า GP มันโอเวอร์มาก และไม่ได้เพิ่มยอดขายให้กับเราสักเท่าไหร่ คืออย่างที่บอกว่าเราขายดีก็จริง แต่เราไม่ได้เน้นเอากำไรเยอะนะคะ แล้วถ้าเราเกิดโดนค่า GP ไปเยอะขนาดนั้น หนึ่งคือเราขาดทุนแน่ ไม่อย่างนั้นเราก็ต้องไปเพิ่มราคา ซึ่งก็จะทำให้ยิ่งแพงไปอีก 

อย่างเราขายปลาตัวละ 300 บาท ถ้าไปขายผ่านแอปฯ ก็ต้องกลายเป็นตัวละ 400 บาท ไหนลูกค้าต้องเสียค่าส่งอีกก็ยิ่งแพงสำหรับเขา ก็จะมีปัญหาในเชิงของการแข่งขันกับร้านอื่นๆ ซึ่งในมุมมองของเราถ้าลูกค้ามาซื้อตรงกับเราแล้วเสียค่าแมส มันก็ไม่ได้ต่างกัน ถ้าอย่างนั้นก็ให้ลูกค้าสั่งตรงกับเราดีกว่า ค่าส่งก็พอๆ กัน ก็เลยไม่ได้ขายกับแอปเจ้าไหนนอกจาก Robinhood ที่ไม่ได้เสียค่า GP และค่าส่งก็ถูก ซึ่งลูกค้าให้ความสนใจเยอะมาก ข้อดีคือเราสามารถที่จะขายถูกกว่าร้านอื่นๆ โดยที่ยังคงปริมาณและคุณภาพอาหารได้อยู่”


“เราก็เลยเน้นขายแบบนัดเวลาส่ง เพื่อที่จะหนีค่า GP ซึ่งบางร้านเขาอาจจะให้สั่งพรีออร์เดร์ล่วงหน้ากันหลายวัน แต่ของเราคือไม่ใช่ แต่เป็นสั่งล่วงหน้าก่อนแค่ประมาณ 2-3 ชั่วโมง โดยเรามีไรเดอร์ส่ง 5-6 คันซึ่งจะเวียนกันมารับ-ส่งสินค้าตลอดทั้งวัน ซึ่งเขาไม่ได้เป็นพนักงานประจำของเรา แต่เป็นไรเดอร์ที่เราใช้งานประจำ บางคนทำมาด้วยกันตั้งแต่สมัยเปิดร้านใหม่ๆ เลยนะคะ เขาก็วิ่งงานให้เราทุกวัน อย่างค่าส่งนี่คนส่งจะได้หมดเลย ทางร้านจะไม่ได้อะไรสักบาท 

สมมติลูกค้าโทรมาส่งที่ร้าน แจ้งพิกัดส่ง เราก็จะคำนวนระยะทางแล้วคิดค่าส่งให้กิโลเมตรละ 10 บาท คือ ทางร้านจะแจ้งค่าส่งก่อนว่าราคานี้ลูกค้าสะดวกไหม ไม่ให้มีปัญหาทีหลัง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราซีเรียสมาก โดยเราจะคิดค่าส่งรวมกับค่าอาหารให้ลูกค้าชำระเงิน แล้วพอหมดวันก็เคลียร์ให้กับไรเดอร์เป็นประจำอย่างนี้ทุกวัน

ข้อดีของการขายแบบนัดเวลาส่ง


1.หนีค่า GP ขายได้ในราคาถูก โดยไม่ต้องลดปริมาณและคุณภาพ ช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน เพราะทำราคาได้ถูกกว่าร้านอื่น ที่ขายผ่านแอปฯ ซึ่งต้องมีต้นทุนค่า GP
2.ส่งได้ตรงตามเวลา ที่ร้านและลูกค้าต้องการ
3.ได้เมนูตรงตามที่ลูกค้าต้องการ เพราะถ้าไม่ได้นัดหมายล่วงหน้า แต่อยากจะรับประทานเดี๋ยวนั้นแล้วสั่ง รายการอาหารบางอย่างอาจจะหมดได้
4.การขนส่งมีคุณภาพ เพราะไรเดอร์ประจำจะดูแลอาหารให้เราเป็นอย่างดี และเราสามารถกำชับเรื่องมารยาทได้ ถ้าเกิดเคสผิดพลาด หรือได้รับฟี้ดแบ็กไม่ดี เราสามารถจัดการกับไรเดอร์ได้โดยตรง แต่ถ้าเป็นไรเดอร์ของของแอปฯ อาจได้แต่รับฟังลูกค้า complain 

Tips : สำหรับร้านที่ต้องการเริ่มทำการขายแบบนัดเวลาส่ง


● เริ่มต้นด้วยวิธีง่ายๆ เช่น พูดคุยตกลงกับวินมอเตอร์ไซค์หน้าปากซอย ร้าน Seafood Aroy Delivery เองก็เริ่มต้นมาแบบนี้เหมือนกัน 
● ตกลงราคากันให้วินทุกฝ่าย  ทั้งร้านเรา ไรเดอร์ และลูกค้า ไม่ใช่กดราคาไรเดอร์มากจนเกินไป ทริคอีกอย่างหนึ่งสำหรับการทำการขายแบบนัดเวลาส่ง คือบางช่วงเราอาจจะดีลกับไรเดอร์บางคนในเรทเหมาทั้งวัน ว่ากี่ชั่วโมงในระยะทางไม่เกินเท่าไหร่ เขาพอจะรับได้ไหม เช่น เหมาทั้งวัน วันละ 600 บาท ไม่เกินกี่กิโลเมตรก็ว่าไป 

ข้อดีก็คือ อาจจะจัดเป็น ‘โปรฯ ลดค่าส่ง’ ช่วยทุ่นค่าส่งของลูกค้าไปได้อีก  และเรายังจัดเส้นทางส่งในช่วงเวลาใกล้เคียงกันให้ไรเดอร์พ่วงออร์เดอร์ได้อีก แต่ถ้าเกินที่ตกลงกันเราก็ดูว่าจะเพิ่มเงินให้กับไรเดอร์เท่าไหร่ที่เหมาะสม คือไรเดอร์อาจจะได้เงินต่อเที่ยวน้อยลงหน่อย แต่เขาจะได้งานประจำจากเราจำนวนมากขึ้น ซึ่งเป็นราคาที่เขายังรับไหว ซึ่งรวมๆ แล้วแม้จะต้องวิ่งงานมากขึ้นแต่เขาก็จะได้เงินมากขึ้นด้วยซ้ำ และในระยะยาวก็ถือว่าวินๆ กันทุกฝ่าย


แชร์ปัญหาที่พบเจอบ่อยๆ 


“มีลูกค้าที่บ่นเรื่องค่ารถแพง อย่างมีลูกค้าที่อยู่ไกลๆ มาสั่ง ค่าส่งก็เลยแพงเป็นธรรมดา คือร้านเราอยู่บางกรวย แล้วลูกค้าอยู่พระราม 3 เราคิดกิโลเมตรละ 10 บาทตามปกติก็จริง แต่ถ้าระยะทางไกลๆ มันก็ยังแพงสำหรับเขาอยู่ดี ลูกค้าที่สั่งจากไกลๆ ก็จะมีบ่นบ้าง แต่มันก็เป็นเรื่องที่ต้องฟังไปแล้วทำอะไรไม่ได้ จะไปบอกกับลูกค้าว่า “ไม่อยากเสียค่าส่งแพงก็สั่งเจ้าใกล้ๆ สิ” ก็ไม่ได้ เราก็จะพยายามบอกเขาว่าถ้าเห็นว่าค่ารถสูงเกินไปแล้วไม่สะดวกก็ไม่เป็นไร แต่คุณลูกค้าสามารถมารับเองที่ร้านได้นะคะ ซึ่งลูกค้าบางคนเขาก็เข้าใจและเลือกที่จะมารับเองที่ร้านอะไรอย่างนี้ค่ะ นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อย ซึ่งมันแก้ไขอะไรไม่ได้ 

แต่ลูกค้าบางคนเขาก็สู้ค่ารถนะคะ เราก็เข้าใจกัน เพราะทางร้านเองก็ไม่สามารถไปกดค่าส่งจากไรเดอร์เขาได้จริงๆ และยิ่งถ้าระยะทางไกลๆ ความเสี่ยงในเรื่องการขนส่งมันก็ค่อนข้างสูง ว่าอาหารจะถึงมือลูกค้าอย่างปลอดภัย และจะยังอร่อยหรือเปล่า อย่างบางทีไปกลับเกือบ 100 กิโลเมตรก็ยังมี แต่เราไม่มีปัญหา ถ้าลูกค้าสะดวกจ่ายค่ารถก็สั่งได้ แต่นานๆ ที เราก็จะทำโปรฯ ค่าส่งฟรี 10 กิโลเมตรแรก และ 10 กิโลเมตรถัดไป ทางร้านช่วยจ่ายให้อีกครึ่งหนึ่ง เพื่อเป็นการกระตุ้นยอดขายและคืนกำไรให้กับลูกค้าบ้างเหมือนกัน แต่ต้องเป็นโอกาสพิเศษจริงๆ อย่างปีใหม่เท่านั้น เพราะอย่างที่บอกว่าร้านไม่ได้อะไรจากค่าส่ง ดังนั้นถ้าจะจัดโปรลดค่าส่งทางร้านก็ต้องจ่ายส่วนนี้ให้กับไรเดอร์แทนลูกค้า”

ใช้สิทธิคนละครึ่งกระตุ้นยอดขาย ลูกค้าชอบมาก แต่ก็มีปัญหาให้ต้องจัดการ 



เจ้าของร้านร้าน Seafood Aroy Delivery ยังบอกอีกว่า ช่วงแรกๆ ที่รัฐบาลออกนโยบายให้ประชาชนใช้สิทธิ ‘คนละครึ่ง’ ออกมานั้นช่วยเพิ่มยอดขายให้กับทางร้านได้ดีมากๆ แถมยังสะดวกมาก จนเมื่อไม่นานมานี้ก็เริ่มมีปัญหาให้ต้องแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า

“คือช่วงแรกๆ การใช้สิทธิ ‘คนละครึ่ง’ สามารถใช้กับอุปกรณ์โทรศัพท์ได้หลายเครื่องเลยใช่ไหมคะ เราก็ให้ลูกค้าสแกนจากโทรศัพท์ของไรเดอร์ทุกคนได้เลยซึ่งสะดวกมาก แต่พอมาระยะหลังก็ได้มีการปรับกฎเกณฑ์ใหม่ว่า 1 ร้านให้สแกนได้แค่ 3 เครื่องต่อวัน ก็เริ่มทำให้เรามีปัญหาแล้ว เพราะไม่ใช่ว่าไรเดอร์ของเราทุกคนจะให้สแกนได้ตลอด มันก็ต้องแก้ปัญหาด้วยการวนเครื่อง เช่น ถ้าช่วงเวลาไหนที่ลูกค้าต้องการใช้สิทธิพร้อมกันเยอะๆ ก็จะเป็นปัญหาให้เราจะต้องจัดสรรแล้ว และพอมันใช้ได้แค่ทีละ 3 เครื่อง ก็ต้องมีการเอาบางเครื่องเข้า ถอดบางเครื่องออก แล้วนโยบายก็ดันจำกัดให้ขอรหัส OTP ได้แค่ 3 วันต่อครั้ง ก็เลยจะลำบากมากตอนนี้ ทำให้ต้องอาศัยการจัดการกันเยอะขึ้น” 

“วิธีแก้ปัญหาของเราก็คือ ถ้าลูกค้าเจ้าไหนบอกว่าจะใช้สิทธิคนละครึ่ง จากเดิมที่มีรอบส่งอยู่ในช่วงครึ่งชั่วโมง เราก็จะขอยืดลูกค้าเป็น 1 ชั่วโมงเต็มแทน เช่นแต่เดิมถ้าสั่งช่วง 11 โมง เราก็จะบอกว่าได้รับช่วง 11.00-11.30 น. แต่ถ้าต้องการใช้สิทธิคนละครึ่งก็จะบอกไปเลยว่าขอส่งเป็นช่วง 11.00-12.00 นะคะ เพื่อเผื่อให้เราได้มีเวลาวนเครื่องและแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งบางทีมันก็อาจจะมีอุบัติเหตุที่ทำให้ล่าช้าบ้าง แต่เราก็จะรีบแจ้งลูกค้าล่วงหน้าทันที”

สำหรับคนที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับการต้องสู้กับค่า GP อยู่ ทางร้าน Seafood Aroy Delivery ยังแนะนำว่า หากร้านอื่นๆ จะลองนำโมเดลวิธี ‘นัดเวลา’ ส่งแบบนี้ไปใช้ก็น่าจะดี แต่ก็ต้องปรับให้เหมาะกับร้านของตัวเองด้วย และสิ่งสำคัญที่จะลืมไปไม่ได้เลยคือ เรื่องของความตรงเวลา และความจริงใจที่มีให้กับลูกค้า



สำรวจหัวข้อเพิ่มเติม
GPคนละครึ่งซีฟู้ดseafoodSeafood Aroy Deliveryเดลิเวอรี่

Keep reading

รับแรงบันดาลใจจากเนื้อหาสำหรับร้านอาหาร

ดูบทความทั้งหมด
คุณสนใจหมวดหมู่ใด