จำกัดงบกันเจ๊ง ! ด้วยเทคนิควางแผนเงินทุน ก่อนเปิดร้าน

22 ส.ค. 2564
หนึ่งในจุดที่ทำให้ร้านอาหารส่วนใหญ่ เปิดร้านได้ไม่นานก็ต้องมีอันเป็นไป มักมาจากบริหารงบลงทุนผิดพลาดตั้งแต่แรก
แผนการเงิน หรือ  Financial Plan นับว่ามีความสำคัญอย่างมาก สำหรับผู้ที่คิดจะเข้าสู่ธุรกิจร้านอาหาร เพราะการทำร้านอาหาร
มีรายละเอียดหลายส่วน ที่ล้วนเกี่ยวข้องกับเงินทุน ดังนั้น หากบริหารงบลงทุนผิดตั้งแต่เริ่มต้นโอกาสสำเร็จก็ยาก
แล้วแบบนี้ ถ้าจะทำร้านอาหารสักร้านต้องจัดสรรงบประมาณอย่างไร เรามีแนวทางมาบอก

ไม่ว่าคุณจะทำร้านอาหารขนาดเท่าไหร่ ประเภทอะไรก็ตาม แนะนำให้แบ่งงบประมาณลงทุนออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

  1. เงินสำหรับการลงทุนจนร้านเปิดกิจการได้ 60 – 70 %
  2. เงินทุนหมุนเวียนภายในร้านระยะประมาณ 4 – 6 เดือน 20 – 30%
  3. งบการตลาด 10 – 20 %
งบเงินสำหรับการลงทุนจนร้านเปิดกิจการได้
แน่นอนว่า งบประมาณส่วนที่เยอะสุด จะอยู่ในส่วนแรกงบลงทุนทำร้าน ซึ่งในส่วนนี้เหมารวมตั้งแต่

  • ค่าเซ้ง
  • ค่าเช่า
  • ค่าออกแบบ
  • ค่าดำเนินการขออนุญาตต่าง ๆ
  • ค่าก่อสร้าง
  • ค่าวางระบบไฟ น้ำ แก๊ส
  • ค่าตกแต่ง
  • ค่าอุปกรณ์
  • ค่าภาชนะ
  • อื่น ๆ เช่น ระบบ CCTV
ซึ่งทั้งหมดคือ ส่วนจำเป็นที่จะทำให้ร้านอาหารเกิดขึ้นได้ และมักเป็นส่วนที่ทำให้งบบานปลาย โดยเฉพาะในส่วนงานตกแต่ง
ซึ่งหากผู้ประกอบการสามารถควบคุมงบประมาณให้อยู่ในกรอบได้ ก็จะไม่กระทบกับงบประมาณส่วนอื่น หัวใจสำคัญของส่วนนี้
จึงอยู่ที่คอนเซ็ปต์ร้านและงานออกแบบ โดยเฉพาะแบบแปลนร้านมีความสำคัญมาก งบจะบานไม่บานอยู่ที่ส่วนนี้

ดังนั้น สิ่งที่ผู้กอบการต้องทำการบ้านให้มากคือ คอนเซ็ปต์ร้าน ตัดความฟุ้งออกให้หมด เพราะส่วนใหญ่ที่งบบานปลายมาจากอาการฟุ้ง
คอนเซ็ปต์ไม่นิ่งแก้แบบตลอด ขอให้ท่องจำไว้ว่า ถ้าต้องการคืนทุนเร็ว ก็ต้องบริหารงบลงทุนให้อยู่ในกรอบ เพราะยิ่งงบบานปลายระยะเวลาคืนทุนก็จะยืดออกไป


เงินทุนหมุนเวียนภายในร้าน

 ถือเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญมาก ๆ และมีผลต่อสถานะภาพของกิจการร้านอาหารโดยตรง หลาย ๆ ร้านที่ไม่สามารถยืนระยะได้ ก็เพราะมาจากขาดเงินทุนหมุนเวียน
สาเหตุของการขาดเงินทุนหมุนเวียน ก็เพราะ ขาดการวางแผนจัดสรรงบลงทุน ใช้งบไปกับส่วนแรกมากเกินไป แม้ธุรกิจร้านอาหารจะเป็นธุรกิจกระแสเงินสดดี
แต่นิยามนี้ จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อร้านอาหารร้าน นั้นได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า มีลูกค้ามาใช้บริการต่อวันจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เป็นเช่นนั้น

ดังนั้น ในการเริ่มต้นทำร้านอาหารผู้ประกอบการ จึงจำเป็นต้องตั้งงบประมาณสำหรับเงินทุนหมุนเวียนให้เพียงพออย่างน้อย 6 เดือน ความหมายก็คือ ต่อให้ 6 เดือนนี้ ร้านไม่มีลูกค้าเลย
ยอดขายขาดทุนตลอด กิจการก็ยังสามารถเปิดได้ มีเงินซื้อวัตถุดิบ มีเงินจ่ายค่าเช่า ค่าน้ำ ไฟ เงินเดือนพนักงาน เงินเดือนตัวเอง เพราะร้านอาหารเปิดใหม่อาจต้องรอเวลาให้ลูกค้ารู้จัก
บอกต่อ อย่าหวังความฟลุ๊ค ขอให้เน้นปลอดภัยไว้ก่อน


งบการตลาด

เป็นงบส่วนที่เราแนะนำให้แยกออกมาไว้เลย เพราะปัญหาของร้านอาหาร SME ที่พบได้บ่อย ๆ คือ ทำร้านอย่างดี ตกแต่งอย่างสวย แต่ไม่มีงบทำการตลาด
จะทำการตลาดแต่ละครั้ง ต้องทำแบบประหยัด เนื่องจากควักงบส่วนตัวออกไปก่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น โดยเฉพาะกับยุคที่มีการแข่งขันสูง ลูกค้ามีร้านตัวเลือกมาก
การสร้างการรับรู้ให้ลูกค้ารู้จักผ่านช่องทางต่าง ๆ แม้แต่ป้ายสื่อหน้าร้าน รถแห่ เป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ ดังนั้น การกันงบประมาณส่วนนี้แยกออกมาแต่แรก
จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนการตลาดได้อย่างเต็มที่ตั้งแต่เริ่มต้นทำร้าน

ย้ำความสำคัญอีกครั้ง การบริหารงบลงทุนให้อยู่ในกรอบตามแผน และร้านสามารถเปิดได้ตามกำหนด มีผลโดยตรงต่ออนาคตกิจการ ร้านอาหารจะคืนทุนช้า หรือ เร็ว
จะอยู่ได้ยาว หรือ สั้น ก็มาจากก้าวแรก คือ การบริหารงบลงทุน ยิ่งหากสามารถประหยัดงบส่วนไหนได้ โดยไม่กระทบต่อคุณภาพการก่อสร้าง และคอนเซ็ปต์ร้าน
จะยิ่งช่วยเพิ่มโอกาสคืนทุนได้เร็วมากขึ้นด้วย

สำรวจหัวข้อเพิ่มเติม

Keep reading

รับแรงบันดาลใจจากเนื้อหาสำหรับร้านอาหาร

ดูบทความทั้งหมด
คุณสนใจหมวดหมู่ใด