เปิดร้านอาหาร ต้องจดทะเบียนร้านอย่างไร?

22 ส.ค. 2564
หนึ่งในประเด็นคำถามแทบทุกคนต้องมี การเปิดร้านอาหารร้านแรกในชีวิต ต้องจดทะเบียนพาณิชย์หรือไม่? เพราะได้ฟังมาว่าต้องจดบ้าง ไม่ต้องจดบ้าง จนหลายคนไม่แน่ใจว่าแค่เปิดร้านขายอาหารตามสั่งหน้าบ้านจำเป็นต้องจดทะเบียนพาณิชย์หรือไม่ เรามีคำตอบมาบอกให้หายสงสัย

ทำให้เป็น “ธุรกิจ” ควรทำทุกอย่างให้ถูกกฎหมาย

บทความนี้จะยึดตามกฎหมายเป็นหลัก เพราะถ้าจะว่ากันในความจริงที่เห็น ๆ กันอยู่เชื่อว่ามีร้านอาหารจำนวนมากที่ไม่ได้จดทะเบียนพาณิชย์ แต่ในทางกฎหมายแล้วเมื่อไหร่ที่เราดำเนินธุรกิจจะต้องแจ้งจดทะเบียนพาณิชย์เพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นการไปจดทะเบียนเพื่อแจ้งให้ทราบว่าเราได้เริ่มประกอบกิจการอย่างถูกต้องและเปิดเผย มีสถานที่ตั้งเป็นกิจจะลักษณะมีชื่ออยู่ในระบบของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งการจดทะเบียนมี 2 รูปแบบคือ บุคคลธรรมดา และนิติบุคคล



การจดทะเบียนพาณิชย์รูปแบบบุคคลธรรมดา

ที่มักจะนิยมเรียกติดปากว่า “ทะเบียนการค้า”

  • ในเขตกรุงเทพมหานคร ยื่นจดทะเบียนพาณิชย์ได้ที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักการคลัง กรุงเทพมหานคร และสำนักงานเขตทุกแห่ง
  • ในส่วนของต่างจังหวัด ยื่นจดทะเบียนได้ที่เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล ที่ร้านของเราตั้งอยู่ ต้องจดทะเบียนภายใน 30 วันนับแต่วันเริ่มประกอบกิจการ

เอกสารประกอบการจดทะเบียนพาณิชย์ (บุคคลธรรมดา)

  • แบบ ทพ. คลิดดาวน์โหลดได้ที่นี่ 
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้จดทะเบียนพาณิชย์
  • กรณี ที่ตั้งของร้าน ผู้ขอจดไม่ได้เป็นเจ้าบ้าน ต้องมีเอกสารแนบเพิ่มเติมคือ หนังสือให้ความยินยอมใช้สถานที่ และสำเนาทะเบียนบ้านของเจ้าบ้านที่เราไปขอใช้สถานที่
  • แผนที่ตั้งของร้าน
  • หนังสือมอบอำนาจ (หากเราไม่ได้ไปยื่นจดทะเบียนด้วยตัวเอง)
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ
  • ค่าธรรมเนียม 50 บาท

การจดทะเบียนพาณิชย์รูปแบบนิติบุคคล

          การจดทะเบียนในรูปแบบนิติบุคคลจะมีขั้นตอนยุ่งยากกว่ารูปแบบบุคคลธรรมดา เพราะในทางกฎหมายนิติบุคคลถือว่าธุรกิจนั้นแยกออกจากความเป็นบุคคลธรรมดา มีกฎหมาย กฎระเบียบ และความรับผิดชอบเฉพาะ ซึ่งประเภทของการจัดตั้งธุรกิจใหม่เป็นนิติบุคคลที่นิยมจดจะมี 2 ประเภท คือ บริษัทจำกัดกับห้างหุ้นส่วนจำกัด

สถานที่ที่จะไปยื่นขอจดทะเบียนจำกัดและห้างหุ้นส่วนจำกัด ถ้าเป็นในเขตกรุงเทพมหานครต้องขอยื่นจดที่สำนักงานกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือที่กระทรวงพาณิชย์ กรณีต่างจังหวัดยื่นจดที่พาณิชย์จังหวัด

ซึ่งโดยทั่วไปก็มักจะใช้บริการสำนักงานบัญชีให้เป็นผู้ดำเนินการให้ ดังนั้นในรายละเอียดของเอกสารและขั้นตอนการจดทะเบียนในรูปแบบนิติบุคคลหากท่านใดต้องการทราบ สามารถเข้าไปศึกษาได้ที่ เว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า



ข้อแตกต่างระหว่างจดทะเบียนบุคลคลธรรมดากับนิติบุคคล

มาดูในข้อแตกต่างของการจดทะเบียนที่หลายคนสงสัยว่า จดแบบบุคคลธรรมดา กับ จดแบบนิติบุคคล ต่างกันอย่างไร หรือ จะมีข้อดี ข้อเสียอย่างไร


ฉะนั้น หากจะมีคำถามต่อว่า แล้วควรจดทะเบียนรูปแบบไหนดี ข้อแนะนำเบื้องต้นก็ต้องขึ้นอยู่กับเป้าหมายในกิจการที่ทำ หากต้องการต่อยอดเติบโตเป็นธุรกิจการจดทะเบียนในรูปแบบนิติบุคคลก็เป็นเรื่องที่เหมาะสมกว่า แต่หากเป็นเพียงทำการค้าเล็ก ๆ ดำเนินการแต่เพียงผู้เดียวไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับใครก็เหมาะกับการจดทะเบียนในรูปแบบบุคคลธรรมดา


“ภาษี” เรื่องต่อมาที่ต้องรอบคอบ

คำถามต่อเนื่องตามมาหลักจากจดทะเบียนพาณิชย์เรียบร้อยแล้วจะต้องมีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยหรือไม่ ในทางกฎหมายนั้นมีข้อระบุไว้ว่ากิจการที่มีรายได้ไม่เกิน 1,800,000 บาทต่อปี ไม่ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้
แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มีรายได้ถึง 1,800,000 บาทต่อปี ต้องยื่นจดภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีมูลค่าของฐานภาษีเกิน 1,800,000 บาทต่อปี กรณีนี้ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลก็อยู่ในเงื่อนไขเดียวกัน

กรณีกิจการร้านค้าที่จดทะเบียนพาณิชย์แบบบุคคลธรรมดาต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด. 94 ในครึ่งปีแรก และ ภ.ง.ด. 90 ในครึ่งปีหลัง ในรูปแบบนิติบุคคลก็ต้องยื่นตามกฎหมายกำหนดเช่นกัน ซึ่งก็มักจะเป็นสำนักงานบัญชีดำเนินการให้
ประเด็นที่หลายคนคาใจก็คือ ถ้ารายได้เกินกฎหมายกำหนดแล้วไม่ได้ยืนจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะโดนย้อนหลังหรือไม่ หรือถ้าต้องจ่าย ขอแบบตีเหมาได้ไหม?


คำตอบคือ ถ้ารายได้เกิน 1,800,000 บาทต่อปี แล้วไม่ได้ยื่นภาษีมีโอกาสโดนปรับย้อนหลังแน่ ๆ ยิ่งปัจจุบันระบบตรวจสอบของกรมสรรพากรมีการยกระดับประสิทธิภาพในการตรวจสอบเข้มข้นอย่างมากสามารถดำเนินการตรวจสอบความเคลื่อนไหวทางการเงินต่าง ๆ ได้อย่างละเอียดโอกาสที่จะโดนตรวจสอบพบมีสูง ดังนั้น ถ้ารู้ตัวว่ารายได้เกินอย่าพยายามปกปิด หลีกเลี่ยงเลยจะดีกว่า

ส่วนประเด็นที่ว่าขอทางสรรพากรตีภาษีเหมาได้ไหม คำตอบคือ ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มไม่มีภาษีตีเหมา

สำรวจหัวข้อเพิ่มเติม

Keep reading

รับแรงบันดาลใจจากเนื้อหาสำหรับร้านอาหาร

ดูบทความทั้งหมด
คุณสนใจหมวดหมู่ใด