จัดการบัญชีดี ช่วยลดหย่อนภาษีร้านอาหารได้

29 พ.ย. 2563
        เข้าสู่ช่วงปลายปีแล้ว อันเป็นห้วงเวลาที่ถือเป็นช่วงหน้าขายหรือช่วงไฮซีซั่น ซึ่งผู้บริโภคมักนิยมออกมาเฉลิมฉลองสังสรรค์กัน เชื่อว่าผู้ประกอบการร้านอาหาร-คาเฟ่ต่างก็ครีเอทร้านให้เป็นที่ดึงดูดความสนใจเพื่อให้ลูกค้ามาใช้บริการ ทว่าในทางคู่ขนานกัน ยังเข้าสู่ช่วงปลายปีภาษีแล้ว ซึ่งหมวกอีกใบของเจ้าของร้านก็ต้องแบ่งมาจัดการเรื่องภาษีอีกด้วย และประเด็นหนึ่งคือการเซฟเงิน ลดรายจ่าย นั่นคือการลดหย่อนภาษีครั้งนี้จึงชวน ‘อ.ธนัย นพคุณ’ กูรูด้านบัญชีและ Course Director แห่ง FlowAccount ที่จะมาให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการบัญชี ซึ่งสิ่งนี้จะสามารถช่วยผู้ประกอบการลดหย่อนภาษีได้ด้วย

เทคนิคจัดการบัญชีช่วยลดหย่อนภาษี

        จะลดหย่อนภาษี ต้องรู้จักกับภาษีที่ร้านอาหารและคาเฟ่ต้อง ‘เสีย’ เสียก่อน เป็นสิ่งแรกที่ อ.ธนัย ชวนคิดและอธิบายให้เข้าใจอง่ายๆ ว่า ฐานภาษีขึ้นอยู่กับรูปแบบการประกอบธุรกิจ ซึ่งร้านอาหาร-คาเฟ่ มี 2 รูปแบบ คือ บุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล/บริษัท

        o บุคคลธรรมดา 

        สำหรับเจ้าของร้านอาหาร-คาเฟ่ที่ไม่ได้จดทะเบียนบริษัทนั้น การเสียภาษีจะเป็นแบบ ‘บุคคลธรรมดา’ ซึ่งจะคำนวนตามอัตราส่วนของรายได้  ยิ่งรายได้มาก ก็เสียภาษีมาก
(ที่มา: กรมสรรพากร)


        แต่ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเรื่องฐานภาษีที่ใช้คิดคำนวน เช่น รายได้ 0 - 150,000 บาท ได้รับการยกเว้น โดยเงินได้ร้านอาหารทั้งปี ต้องนำรายได้ร้านอาหารหักกับค่าใช้จ่าย หักค่าลดหย่อนต่าง ๆ ของบุคคล (เจ้าของร้าน) เหลือเท่าไรแล้วนำมาคำนวนภาษี
        สำหรับภาษีบุคคลธรรมดาของผู้ประกอบการร้านอาหารนั้น สามารถคำนวนได้ 2 แบบ
        แบบแรก  หักค่าใช้จ่ายเป็นเปอร์เซ็นต์ โดยร้านอาหาร สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 60% ของรายได้ของผู้ประกอบการร้านอาหาร โดยนำค่าใช้จ่ายมาหักกับเงินได้ และค่าลดหย่อนส่วนตัวแต่ละบุคคล (ถ้ามี) เป็นต้นว่า ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา ค่าเช่าบ้าน ค่าดอกเบี้ยในการซื้อรถ กองทุน SSF กับ RMF ฯลฯ คงเหลือเท่าไรก็ให้นำมาเสียภาษีตามขั้น (ตารางด้านบน) 
เพื่อให้เข้าใจจ่าย ยกตัวอย่าง
ถ้าร้านอาหารมีรายได้                       1,000,000 บาท 
สามารถ หักค่าใช้จ่ายได้ 60%             600,000 บาท 
ดังนั้นรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย             400,000 บาท 
หักค่าลดหย่อน
ส่วนตัว                                                   60,000 บาท
เงินได้สุทธิก่อนเสียภาษี                       340,000 บาท

นำ 340,000 บาทไปเสียภาษีตามตาราง
150,000  แรก ได้รับยกเว้นภาษี
150,000 ต่อมา เสียภาษีที่ 5% = 7,500 บาท
อีก 40,000 บาทส่วนที่เหลือ เสียภาษีที่ 10% = 4,000 บาท
ดังนั้นตามตัวอย่างนี้จะเห็นได้ว่า ต้องเสียภาษีที่ 7,500 + 4,000 = 11,500 บาท
นี่ขนาดยังไม่ได้นำค่าลดหย่อนที่กล่าวจากด้านต้นมาลดหย่อนเพิ่มเติม ซึ่งมีผลให้สามารถนำส่งภาษีได้น้อยลงไปอีกนะครับ แต่การที่จะมีค่าลดหย่อนได้ ต้องมีระบบการจัดการเอกสารที่ดี จะได้มีเอกสารประกอบการลดหย่อนภาษีได้ครบ (อ่านบทความ ‘อ.ธนัย FlowAccount: 5 เหตุผล ทำบัญชีช่วยลดต้นทุนเพิ่มพูนกำไร’ ) ไม่เช่นนั้นแล้วจะเสียภาษีเต็มขั้นที่ 30% เลยทีเดียว
        แบบสอง ‘นำรายได้ทั้งหมดคูณ 0.5%’ แบบใดเสียภาษีมากกว่าให้เลือกวิธีนั้น
        “คุณทำร้านอาหาร ขาดทุนยังไงก็ต้องเสียภาษี เพราะว่าเอารายได้คูณด้วย 0.5% ดังนั้นไม่มีทางเลือกครับ เบื้องต้นถ้ามีการเก็บข้อมูลที่ดี ก็จะตอบได้ทันทีว่าแบบไหนคุ้มกว่า”
        นอกจากนั้น ถ้าร้านอาหาร-คาเฟ่ มีรายได้มากกว่า 1,800,000 บาท ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แม้ว่าไม่ได้จดทะเบียนบริษัทก็ตาม ดังนั้นต้องมีใบกำกับภาษีทั้งของซื้อและของขาย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการจัดเก็บเอกสาร ในแง่บุคคลธรรมดาอาจจะเสี่ยงต่อความไม่คุ้มค่า เพราะว่าไม่มีโครงสร้างในระบบดังกล่าวรองรับไว้ ถ้าเทียบกับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนบริษัท บุคคลธรรมดาจึงมีโอกาสขาดทุนมากกว่า
        สำหรับ ‘เทคนิควิธีการลดหย่อนภาษีร้านอาหารแบบบุคคลธรรมดา’ ให้ลดหย่อนได้เยอะๆ นั้น อ.ธนัย สรุปทริคไว้ดังนี้
1. ต้องสำรวจตัวเองก่อนว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง
2. ต้องรู้ว่ามีค่าลดหย่อนอะไรบ้าง
3. ใช้สิทธิประโยชน์จากมาตรการหรือโครงการของรัฐให้ครบ

o นิติบุคคล/บริษัท


        ในส่วนของผู้ประกอบการร้านอาหาร-คาเฟ่ที่จดทะเบียนบริษัท การคำนวนภาษีนั้น ‘คำนวนวิธีเดียว’ โดยนำรายได้หักกับรายจ่ายมาคำนวนตามความเป็นจริง เหลือเท่าไรค่อยนำมาเสียภาษี ซึ่งค่าใช้จ่ายทุกอย่างใช้ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะมีการจ่ายเงินเดือนให้เจ้าของร้าน ค่าทำบัญชี ค่าสอบบัญชี ซึ่งแบบบุคคลธรรมดาทำไม่ได้ ดังนั้นวิธีการเพื่อหาภาษีลดหย่อน บริษัทจะสะดวกมากกว่า
        อีกทั้งส่วนใหญ่แล้ว ผู้ประกอบการร้านอาหาร-คาเฟ่ที่จดทะเบียนบริษัทจะเป็น SMEs คือ ทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5,000,000 บาท และมีรายได้ไม่เกิน 30,000,000 บาท ซึ่งกำไร 300,000 บาทแรก ไม่ต้องเสียภาษี ดังนั้นจึงมีออปชั่นในการทำฐานลดหย่อนภาษีมากกว่าแบบบุคคลธรรมดา
        ดังนั้น เทคนิคในการลดหย่อนภาษี สำหรับแบบนิติบุคคล/บริษัท อ.ธนัย สรุปไว้ดังนี้
1. สำรวจว่ามีลดหย่อนอะไรบ้าง
2. ใช้สิทธิได้ครบแล้วหรือยัง
3. มีระบบจัดเก็บเอกสารดีแค่ไหน             
        “ผู้ประกอบการควรทราบว่าตนมีสิทธิอะไรบ้าง โดยแบ่งเป็นสองทาง
ทางแรก - คุณเป็นใคร (บุคคลธรรมดาหรือบริษัท) ใช้สิทธิ์ได้แค่ไหน
สอง - อัปเดตข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิเสมอ ต้องตามข่าวสารจากกรมสรรพากร ซึ่งตอนนี้มีโครงการคนละครึ่ง โครงการช็อปดีมีคืน และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน นี่คือสิ่งที่ต้องรู้ ต้องเปิดหูเปิดตา”

ระบบจัดเก็บเอกสารบัญชีที่ดีควรเป็นอย่างไร

        สังเกตว่า อ.ธนัย ย้ำถึงเรื่องระบบจัดเก็บเอกสารด้านบัญชีให้ดี เพราะหากเมื่อถึงวันที่ผู้ประกอบการจะต้องนำเอกสารมาประกอบการขอลดหย่อนภาษี ถ้าเอกสารไม่ครบก็ย่อมทำให้การขอลดหย่อนภาษีทำได้น้อย อ.ธนัยมี ทริคการเซ็ตระบบจัดเก็บเอกสารเบื้องต้นไว้ดังนี้
        1. ต้องมีการแบ่งรายได้-รายจ่าย เพื่อจัดระบบการเก็บเอกสารรายได้ให้ทราบว่าเข้ามากี่ช่องทาง มีรายจ่ายอะไรบ้าง จ่ายเพื่อซื้อวัตถุดิบ อุปกรณ์ภาชนะใส่อาหาร หรือจ่ายเพื่อสินทรัพย์ จำพวกโต๊ะ เก้าอี้ ฯลฯ ฉะนั้น ควรต้องแบ่งรายการเอกสารและเก็บตามหมวด เช่น หมวดสินทรัพย์ หมวดอุปกรณ์เครื่องครัว หมวดค่าทำการตลาด เป็นต้น
         2. วางแผนเรื่องสิทธิภาษีเช่น โต๊ะ เก้าอี้ จะได้รับการคิดค่าเสื่อมราคา มีสิทธิใช้ได้ถึง 5 ปี หรือจะเป็นการซื้อภาชนะอุปกรณ์ ก็สามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงค่าอินฟลูเอนเซอร์ ต้องมีหัก ณ ที่จ่าย           “ควรต้องวางแผนเรื่องการซื้อวัตถุดิบและอุปกรณ์ว่าจะซื้อกับใคร เพราะร้านอาหาร-คาเฟ่ ซื้อวัตถุดิบและอุปกรณ์ ทุกวันหรือทุกอาทิตย์ เช่นซื้อที่ Makro ก็สบายใจได้ว่าบิลมีครบ สามารถเก็บเอกสารได้ ถ้ามีการวางแผนที่ดี เพราะว่าทำสิ่งเล็กๆ บ่อยๆ ก็รวมเป็นก้อนใหญ่เอง ดังนั้น วางแผนก่อนก็ช่วยให้ใช้สิทธิได้ครบ”

สมัยนี้มีเทคโนโลยีช่วยจัดการเรื่องบัญชีให้ง่ายขึ้น

        อย่างที่ อ.ธนัย มักย้ำว่าต้องเก็บเอกสารและข้อมูลรายได้รายจ่ายให้ครบ แน่นอนว่าการที่ร้านอาหาร-คาเฟ่ เป็นธุรกิจซื้อมาขายไป ซึ่งในแต่ละวันย่อมมีรายการบัญชียาวเป็นหางว่าว หากแต่ปัจจุบันระบบบริหารจัดการด้านบัญชีไม่ใช่เรื่องยากและวุ่นวาย เนื่องจากมีเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วยให้เรื่องดังกล่าวง่ายขึ้น
        เป็นต้นว่า ถ้าจะจัดเก็บบิลด้านรายจ่ายต่าง ๆ ซึ่งเรื่องใหญ่คือ เจ้าของ ‘กลัวบิลหาย’ มากที่สุด แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยเก็บบิล ใบเสร็จ หรือใบกำกับภาษี ไว้ในระบบออนไลน์ อย่างฟังก์ชัน AutoKey ที่ FlowAccount คิดขึ้น ซึ่งเป็นโปรแกรมที่สามารถเก็บบิลเอาไว้ เพียงแค่สแกนทางเว็บไซต์ หรือถ่ายรูปบิลผ่านแอปพลิเคชันโดยระบบ OCR จะอ่านข้อมูลจากภาพแล้วแปรงเป็นตัวเลขต่าง ๆ ไม่ต้องกรอกข้อมูลให้ยุ่งยากและเสียเวลา

        สำหรับ FlowAccount เป็นตัวช่วยในการจัดเก็บฐานข้อมูลบัญชีบนคลาวด์ ซึ่งใช้งานได้ทั้งทางเว็บไซต์และโมบาย แอปพลิเคชัน โดยยังมีฟังก์ชันที่จะช่วยผู้ประกอบการร้านอาหาร-คาเฟ่ เรื่องภาษีอย่าง VAT Management ระบบที่จะช่วยจัดการภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยสามารถแจ้งให้ทราบว่ามีใบกำกับภาษีทั้งหมดเท่าไร ใบไหนพร้อมยื่นกรมสรรพากร หรือใบไหนยื่นไม่ได้ ยังแจ้งด้วยว่าใบไหนใช้ยื่นไปแล้ว ซึ่งช่วยให้จัดการเรื่องการใช้สิทธิลดหย่อนได้ครบถ้วน ไม่ตกหล่นนอกจากนั้นยังระบุด้วยว่า ต้องเอาข้อมูลใดไปกรอกในแบบ ภ.พ. 30 รวมถึงสามารถ Export รายงานภาษีซื้อ-ภาษีขายเป็น Excel ออกมาได้อีกด้วย

        จะเห็นได้ว่า การวางแผนระบบบัญชีที่ดี ย่อมช่วยให้ผู้ประกอบการผ่อนหนักเป็นเบาในด้านภาษีได้ รวมไปถึงการรู้สิทธิประโยชน์ของตัวเอง และเข้าร่วมตามมาตรการช่วยเหลือของรัฐ ก็ช่วยให้เงินไม่ปลิวออกจากกระเป๋าได้หลายใบ แน่นอนว่าธุรกิจก็จะมีตัวเลขผลประกอบการสมเหตุผลด้วยเช่นกัน

คลิกอ่านบทความน่ารู้ จากแม็คโคร โฮเรก้า อคาเดมี
สำรวจหัวข้อเพิ่มเติม
Restaurant Tax

Keep reading

รับแรงบันดาลใจจากเนื้อหาสำหรับร้านอาหาร

ดูบทความทั้งหมด
คุณสนใจหมวดหมู่ใด