ร้านในเมืองท่องเที่ยว ลูกค้าต่างชาติหาย สร้างฐานลูกค้าคนไทยใหม่ อย่างไรดี?

23 ส.ค. 2563
ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี เป็นอันดับ 1 จาก 184 ประเทศทั่วโลก แต่ประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบทำให้เศรษฐกิจในประเทศชะงักตัวลง โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่เป็นธุรกิจที่สร้างเม็ดเงินไหลเวียน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยในอับดับต้น ๆ เพราะนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ก็มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ในประเทศของตนเอง และรัฐบาลไทยเองก็ยังไม่ปลดล็อคการเข้าประเทศเพื่อการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติเหมือนเช่นสภาวะปกติ
แน่นอนว่าธุรกิจการท่องเที่ยวย่อมโดนกระทบต่อวิกฤติการณ์นี้โดยตรง รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น ร้านอาหาร ร้านของฝากในแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ยิ่งเมืองที่อาศัยรายได้หลักจากนักท่องเที่ยวด้วยแล้วนั้น ผลกระทบย่อมมากกว่าเมืองอื่น ทางออกหนึ่งของธุรกิจร้านอาหารในเมืองท่องเที่ยวคือการขยายฐานลูกค้าใหม่ โดยกลับมาให้ความสนใจกับกลุ่มลูกค้าคนไทยให้มากขึ้น เพราะจากการสำรวจพบว่า กลุ่มลูกค้าคนไทยยังมีศักยภาพในการท่องเที่ยวและใช้จ่ายอยู่ ประกอบกับนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศของภาครัฐที่ออกมาก็พอจะกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวไทยได้พอสมควรเลยทีเดียว การเริ่มต้นใหม่กับกลุ่มลูกค้าใหม่ อาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากจนเกินไป ส่วนจะเริ่มต้นอย่างไรนั้น MHA มีข้อแนะนำดังนี้ 
1.เริ่มต้นจากปรับท่าทีและทัศนคติของตนเองก่อน
ด้วยความที่ร้านมีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมานาน ดังนั้นจึงไม่แปลกถ้าเราจะคุ้นชินกับอุปนิสัย และการใช้บริการของนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่าคนไทย จนหลายครั้ง บางร้านมีท่าทีละเลยการให้บริการนักท่องเที่ยวชาวไทยไปเลยก็มี จากการสำรวจความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวชาวไทย พบหลายคนมีประสบการณ์ที่ไม่ดีในการรับบริการ อันเนื่องมาจากทางร้านเห็นความสำคัญของลูกค้าชาวไทยน้อยกว่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งทำให้เกิดการบอกต่อในกลุ่มลูกค้าคนไทยและจะนำไปสู่การไม่ใช้บริการในที่สุด
ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดอันดับแรก หากทางร้านมีท่าทีและทัศนคติดังกล่าวข้างต้น เราขอแนะนำให้ปรับความคิดโดยด่วน และหันกลับมาให้ความสำคัญและจริงใจในการให้บริการกับลูกค้าคนไทยให้มากขึ้น เพราะลูกค้าคนไทยก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยประคองให้ธุรกิจร้านอาหารของเราไปรอดได้ในสภาวะวิกฤติเช่นนี้ 
2.เริ่มทำการสำรวจ ว่าใครคือลูกค้าใหม่ของเรา ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า 
นักท่องเที่ยวของแต่ละสถานที่ท่องเที่ยวนั้นมีลักษณะไม่เหมือนกันโดยจำแนกตามคุณลักษณะของสถานที่ท่องเที่ยวแต่ละแห่ง ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มนักท่องเที่ยวชายทะเลหัวหิน มักจะเป็นกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย หรือวัยทำงานตอนต้น และครอบครัวเล็ก ๆ จากกรุงเทพฯ เนื่องจากเดินทางไม่ไกลนัก กลุ่มนี้มีกำลังซื้อค่อนข้างมาก ใช้จ่ายไปกับอาหารและเครื่องดื่มเป็นส่วนใหญ่ เมื่อเทียบกับ กลุ่มนักท่องเที่ยวชายทะเลบางแสน ที่เน้นการท่องเที่ยวแบบเป็นครอบครัว และมีข้อจำกัดด้านค่าใช้จ่ายมากกว่า ส่วนการจะได้มาซึ่งข้อมูลว่าใครเป็นลูกค้าใหม่ของเรานั้น ไม่จำเป็นต้องทำวิจัยการตลาดแบบถูกต้องตามหลักวิชาการ แต่เราสามารถสอบถามได้จากนักท่องเที่ยวคนอื่น ๆ ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการตลาดท่องเที่ยวจากอินเตอร์เน็ต หรือใช้วิธีการสังเกตสอบถามผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ก่อนจะนำมาวิเคราะห์และกำหนดกลุ่มเป้าหมายของร้าน 
3. วิเคราะห์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าใหม่ โดยพิจารณา
ปัจจัยด้านรสนิยมการกิน รสชาติ ความสามารถในการใช้จ่าย โปรโมชั่นที่อยากได้ รวมถึงช่องทางที่จะสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าดังกล่าวนี้ จริงอยู่ร้านอาหารแต่ละร้านอาจจะมีสไตล์อาหารเป็นของตนเอง โดยเฉพาะร้านอาหารที่เน้นนักท่องเที่ยวต่างชาติ มักทำอาหารเพื่อตอบสนองรสนิยมของชาวต่างชาติเป็นหลัก
   แต่อย่างไรก็ตามเมื่อต้องขยายฐานลูกค้าใหม่ คงต้องทำการปรับเปลี่ยนเมนู หรือลองเคาะออกมาว่าเมนูใดที่จะถูกใจนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่นี้ แต่ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนสไตล์การทำอาหารของร้านใหม่ทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น ร้านสเต็ก สไตล์อเมริกัน สามารถเพิ่มเมนู สเต็กรสชาติแบบไทย ๆ หรือเพิ่มเมนูรสจัดเข้ามาบ้างก็ได้ นอกจากนั้น การทำราคาให้เหมาะกับคนไทย หรือแม้แต่การจัดชุดเมนูโปรโมชั่น ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะต้องไม่ลืมว่านักท่องเที่ยวชาวไทยในยุคโควิด-19 นี้ จะพิจารณาเลือกร้านอาหารจากความคุ้มค่าและราคามากขึ้นกว่าภาวะปกตินั่นเอง
4. มองกลุ่มลูกค้าอื่น นอกจากกลุ่มนักท่องเที่ยว
กลุ่มพนักงานบริษัท ห้างร้าน หรือผู้ที่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงกับร้านของเรา ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน อาจเริ่มจากการปรับเมนูให้เหมาะกับวิถีชีวิตของคนเหล่านั้น
   ยกตัวอย่าง ร้านอาหารที่เน้นการสั่งอาหารเป็นชุดใหญ่ อาจเพิ่มเมนูอาหารจานเดียวขึ้นมา หรืออาจจะต้องปรับเปลี่ยนเวลาเปิดปิดให้ตรงกับการใช้ชีวิตของกลุ่มเป้าหมายใหม่ด้วย เช่น เพิ่มการขายรอบเช้า โดยมีเมนูอาหารเช้าทานง่าย ใช้เวลาไม่นานในการทาน ซึ่งเหมาะกับคนทำงานออฟฟิศ อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมการโปรโมทร้าน โดยเริ่มจากเครื่องมือง่ายๆ เช่นใบปลิว หรือป้ายหน้าร้าน ที่จะทำหน้าที่ให้ข้อมูลกับกลุ่มลูกค้าได้ และขยับขยายไปสู่บริการเดลิเวอรี่ ถึงที่พักหรือที่ทำงานด้วยก็ได้ สามารถเรียนรู้การโปรโมทร้านออนไลน์ ให้ยอดขายพุ่ง 10 เท่า ฟรี! คลิก
5. ทำให้ร้านเป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้นไปอีก ด้วยการใช้สื่อโซเชียลต่าง ๆ
เช่น ทำเพจของร้านใน Facebook โดยสร้างคอนเทนต์ที่ตรงใจลูกค้าคนไทยมากขึ้น ลงรูปถ่าย คลิปวิดีโอ ที่เกี่ยวกับร้าน เช่น การรีวิวเป็นภาษาไทย การนำเสนอจุดเด่นของร้าน จุดถ่ายรูปที่ควรมาเช็คอิน หรืออาหารที่เป็นซิกเนเจอร์ของร้าน ในหลายๆ เมนู บรรยากาศการตกแต่งร้าน และหากสามารถนำเสนอจุดเด่นที่สุดของร้านที่ไม่มีใครเหมือนได้ ก็จะเพิ่มความน่าสนใจได้ไม่น้อย เช่น เป็นร้านอาหารที่มีวิวริมแม่น้ำที่สวยมาก หรือมีบริเวณสระน้ำซึ่งสามารถจัดปาร์ตี้ได้  ฯลฯ ซึ่งในส่วนนี้อาจมองดูแล้วว่ายาก เพราะเราไม่ได้มีทักษะในการผลิตคอนเทนต์แบบมืออาชีพ แต่ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาไปมากแล้ว แทบทุกคนจะมีสมาร์ทโฟนที่สามารถถ่ายทั้งภาพและวิดีโอได้ แถมยังมีแอปช่วยแต่งภาพและตัดต่อมากมาย ทั้งฟรีและเสียเงินซื้อ ทำให้ไม่ต้องใช้ทักษะมากนักในการผลิตคอนเทนต์ ที่เหลือก็เพียงเล่าเรื่องของร้าน เมนูอาหาร และบรรยากาศในร้าน นอกจากนี้ในเพจจะต้องมีแผนที่ร้าน เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ หรือ ID Line ของร้าน เพื่อความสะดวกในการสอบถาม สั่งอาหารหรือจองโต๊ะ และสุดท้ายเพื่อเป็นการเพิ่มยอดขาย ลองตบท้ายด้วยโปรโมชั่นมอบส่วนลดพิเศษ สำหรับผู้ที่ กด Like หรือ Share เพจของทางร้าน ก็เป็นไอเดียหนึ่งที่ได้ผลดี 
6. ทำให้อาหารสามารถเดินทางไกลได้ ถ้าอาหารแต่ละเมนูสามารถเดินทางได้ไกลกว่าเดิม นั่นหมายถึงกลุ่มลูกค้าจะขยายกว้างขึ้นกว่าเดิมด้วย และเพิ่มโอกาสขายให้มากขึ้นอีกเช่นกัน ซึ่งเราสามารถทำได้ด้วยการ
เพิ่มบรรจุภัณฑ์ หรือปรับปรุงวิธีการบรรจุอาหารที่จะช่วยให้อาหารคงความสดได้นานขึ้น ไม่เสียหายโดยง่ายในระหว่างการจัดส่ง และเมื่อรวมเข้ากับระบบขนส่งสินค้าที่พัฒนาขึ้นมากในปัจจุบัน ทำให้โอกาสในการขายอาหารของร้านที่อยู่ตามเมืองท่องเที่ยวขยายกว้างขึ้นไปอีก
ทางร้านอาจต้องพัฒนาเมนูขึ้นมาใหม่เลย โดยเน้นเมนูที่สามารถเก็บไว้ได้นาน และสามารถส่งทางไปรษณีย์หรือบริการขนส่งได้โดยไม่เสียหาย เช่น น้ำพริกคั่วต่าง ๆ  ปลาทูต้มเค็ม ผักดอง เป็นต้น และต้องไม่ลืมโปรโมทเมนูเหล่านี้ลงในสื่อต่าง ๆ ของร้านด้วยเช่นกัน ยังมีอีกหลายเคล็ดลับที่จะช่วยประคองธุรกิจร้านอาหารในเมืองท่องเที่ยวให้ผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้ สุดท้ายนี้ทาง MHA ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกร้านในเมืองท่องเที่ยว ไม่ว่าจะอย่างไรเราจะจับมือก้าวพ้นวิกฤติไปด้วยกัน
สำรวจหัวข้อเพิ่มเติม

Keep reading

รับแรงบันดาลใจจากเนื้อหาสำหรับร้านอาหาร

ดูบทความทั้งหมด
คุณสนใจหมวดหมู่ใด