รับไม้ต่อกิจการร้านอาหารจากรุ่นพ่อ แม่ ฟังดูเป็นเรื่องดี แต่หลาย ๆ กรณีของการสืบทอดกิจการมักเต็มไปด้วยปัญหาหนักสุดถึงขั้นขัดแย้งกลายเป็นปัญหาครอบครัว
เพราะรุ่นพ่อ แม่ ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่รุ่นลูกคิดจะทำ ส่วนรุ่นลูกก็มองว่าสิ่งที่รุ่นพ่อ แม่ ทำ เป็นเรื่องโบราณล้าสมัยถึงเวลาต้องเปลี่ยน!
บางครอบครัวยกกิจการให้รุ่นลูกก็จริง แต่พ่อ แม่ สั่งห้ามเปลี่ยนแปลงใด ๆ สุดท้ายมีไม่น้อยลูกหลานต้องถอยตัวเองออกไปทำร้านในแบบสไตล์ที่คิดหรือไม่ก็ทน ๆ
ทำไปแบบไม่มีความสุข ผลเสียตกอยู่กับกิจการไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้
ยกตัวอย่าง กรณีคลาสสิคที่มักเกิดขึ้นบ่อย ๆ ระหว่างรุ่นพ่อ แม่ กับรุ่นลูก คือ เรื่องการรีโนเวทร้านใหม่ รุ่นลูกมองว่า ร้านอาหารยุคนี้ต้องสร้างแบรนดิ้ง
ต้องหาจุดขายใหม่ ๆ ทำการตลาด แต่รุ่นพ่อ แม่ กลับมองว่าลูกกำลังทำลายสิ่งที่ตนเองสร้างมา
หรือ เรื่องการเซ็ตอัพระบบร้าน การเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกิจการ เช่น เครื่อง POS มุมลูกมองว่า เป็นเรื่องจำเป็นเพื่อช่วยให้บริหารจัดการร้านง่ายขึ้น
ทั้งเรื่องการบริหารต้นทุน การควบคุมสต็อก แต่มุมพ่อ แม่ กลับมองว่ารุ่นลูกดูถูกความสามารถของสิ่งที่พ่อ แม่ทำไว้ และมองว่า เป็นเรื่องไม่จำเป็นสิ้นเปลือง
แล้วอย่างนี้ผู้สืบทอดกิจการต่อจากรุ่นพ่อ แม่ จะต้องรับมืออย่างไร เพื่อให้การรับไม้ต่อราบรื่นไม่เกิดความขัดแย้งระหว่างรุ่น
กิจการพัฒนาต่อไปได้ไม่สะดุด มีบทสรุปจากรุ่นลูกที่ทำสำเร็จสืบทอดกิจการรุ่นพ่อ แม่ ด้วยการผสานความคิดต่างระหว่างรุ่นอย่างลงตัวจนทำให้กิจการพัฒนาต่อไปได้
4 เคล็ดลับสืบทอดกิจการจากรุ่นพ่อ แม่ให้รุ่งเรือง
1. เห็นในคุณค่าสิ่งที่รุ่นเก่าทำไว้
สิ่งที่มักเกิดเป็นปัญหามากที่สุดในการสืบทอดกิจการคือ มุมมองของคนรุ่นใหม่ที่มักมองว่าสิ่งเก่าไม่ดีจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง เหมือนกรณี ร้านบัวลอยกลมเกลียวบายแม่แกว รุ่นลูกมองว่าบัวลอยถุง 20บาท
ที่รุ่นพ่อ แม่ ขายเป็นสิ่งที่ต้องเปลี่ยนหากอยากให้กิจการร้านบัวลอยบายแม่แกวเป็นที่รู้จัก และขายดี รุ่นลูกอย่าง คุณปภัสพรรณ์ ชีรนรวนิชย์ มองว่าต้องเปลี่ยนจากใส่ถุงมาเป็นใส่ถ้วยพลาสติกทำแพ็คเกจจิ้งให้ดูดี
และปรับราคาเพิ่มขึ้น แต่แม่กับพ่อไม่เห็นด้วยกลายเป็นความขัดแย้งในครอบครัว จนมาได้สติจากคำพูดของพ่อที่ว่า “ก็บัวลอยใส่ถุงนี่ไม่ใช่รึที่ส่งเสียลูกจนเรียนจบ ครอบครัวมีกินมีใช้” ทำให้คุณปภัสพรรณ์
ได้คิดว่า การจะเปลี่ยนแพคเกจจิงไม่ใช่ประเด็นหลักของความขัดแย้ง แต่เป็นเพราะตัวเองมองข้ามคุณค่าของสิ่งเดิมที่รุ่นพ่อ แม่ได้ทำไว้ และพยายามจะเปลี่ยนสิ่งที่พวกท่านทำมาหลายสิบปีภายในทันที
เป็นเรื่องธรรมดาจะเกิดความไม่เข้าใจกันขึ้น คุณปภัสพรรณ์จึงใช้วิธีหาทำเลตามตลาดนัดเปิดเป็นหน้าร้านเล็ก ๆ แล้วขอคุณแม่ คุณพ่อทดลองทำในรูปที่ตัวเองคิดโดยไม่ไปเปลี่ยนแปลงสิ่งที่คุณแม่ คุณพ่อทำอยู่
ความขัดแย้งในครอบครัวยุติ สิ่งที่ตัวเองอยากจะทำก็ได้ทำเพื่อได้พิสูจน์ว่าสิ่งที่คิดทำนั้น ได้ผลหรือไม่
2. พิสูจน์ให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะทำอย่าใจร้อนเปลี่ยนทุกอย่างตามใจ
ลูก หลานจำนวนไม่น้อยเมื่อได้สืบทอดกิจการ อยากจะเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง ซึ่งเป็นเรื่องเกิดขึ้นได้ยาก อย่าลืมว่า สุดท้ายแล้ว แหล่งเงินทุนสำคัญในการจะเปลี่ยนแปลงใด ๆ ก็คือ คุณพ่อ คุณแม่พ่อนั่นเอง
ยิ่งหากยังไม่เคยมีประสบการณ์เป็นชิ้นเป็นอันมาก่อน อย่าเพิ่งใจร้อนไปเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะความไม่มั่นใจ ไม่แน่ใจ เป็นเหตุผลที่ทำให้รุ่นพ่อ แม่ ไม่ปล่อยมือเต็มที่ เพราะไม่รู้ว่าลูกจะจริงจังกับการทำร้านมากแค่ไหน โดยเฉพาะถ้าลูกหลานอยู่ในวัยเพิ่งจบหรือเรียนจบมาได้ไม่นาน ดังนั้น การพิสูจน์ตัวเอง ด้วยการสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นในสายตาคุณแม่ คุณพ่อด้วยการดูแลกิจการร้านแบบเก่าสักระยะหนึ่ง…เป็นเรื่องจำเป็น
เพื่อพิสูจน์ท่านเห็นความตั้งใจของเรา
เหมือนอย่างกรณีของ คุณชัยพิพัฒน์ ทับเที่ยง ที่ต้องสืบทอดกิจการร้านอาหาร “โกดำหมื่นราม”ต่อจากรุ่นพ่อ แม่ ตัวเขามีความคิดอยากปรับปรุงร้านใหม่ให้ดูมีสไตล์แบบคนรุ่นใหม่ เกิดเป็นร้านที่มีเอกลักษณ์
ในตัวเองทั้งในด้านภาพลักษณ์ และเมนูอาหาร เพื่อให้แข่งขันกับร้านอื่น ๆ ได้ แต่กว่าที่เขาจะทำได้ตามที่คิดสำเร็จ ต้องฝ่าฟันและอดทนอย่างมากในการพยายามทำให้ครอบครัวอนุญาตให้เขาปรับปรุงร้านได้
โดยเขาต้องทำการบ้าน หาข้อมูลต่าง ๆ นำมาแสดงให้คุณพ่อ คุณแม่เห็นถึงข้อดีของการปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ของร้านและที่สำคัญคือ การต้องพิสูจน์ให้ทางบ้านเชื่อมั่นว่า สิ่งที่เขาจะทำคือ เป้าหมายสำคัญ
ต่ออนาคตของตัวเขาอย่างไร
3. อย่ามองข้ามประสบการณ์คนรุ่นพ่อ แม่ และให้ท่านมีส่วนร่วมในทุกการเปลี่ยนแปลง
อีกหนึ่งจุดที่ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างรุ่นพ่อ แม่กับรุ่นลูก คือ ความคิดที่ลูกมักมีต่อคนรุ่นพ่อ แม่ว่า ล้าสมัยไม่ทันยุค ไม่เข้าใจในการเปลี่ยนแปลง จึงมักจะตัดคุณพ่อ คุณแม่ออกจากวงจรธุรกิจ
ที่ตัวเองรับไม้ต่อ โดยลืมนึกถึงประสบการณ์ของรุ่นพ่อ แม่ ที่ผ่านมาที่ประเมินคุณค่าไม่ได้ หลาย ๆ ปัญหายาก ๆ ที่รุ่นลูกเจอ รุ่นพ่อ แม่ สามารถแก้ไขได้ง่าย ๆ ด้วยประสบการณ์ที่พวกเขาผ่านมา
และที่สำคัญในทุก ๆ การเปลี่ยนแปลงที่รุ่นลูกคิดทำควรให้รุ่นพ่อ แม่ ได้รับรู้และมีส่วนร่วมให้ข้อคิด อย่าลืมว่านี่คือกิจการที่พวกท่านสร้างขึ้นมา ท่านรู้จักดีกว่าเรา และมีความผูกพันธ์อยู่
การพยายามตัดคนรุ่นพ่อ แม่ ออกจากระบบไปเลยเป็นเรื่องไม่ดีแน่ โปรดอย่าลืมเรื่องสำคัญกิจการอาจเป็นของเรา แต่แหล่งเงินทุนสำคัญยังเป็นของรุ่นพ่อ แม่
4. ประนีประนอมหัวใจสำคัญของการสืบทอดกิจการรุ่นสู่รุ่น
สุดท้ายแล้ว หัวใจสำคัญสุดของการสืบทอดกิจการก็คือ การประนีประนอม อย่าเอาแต่ความต้องการของตัวเองเป็นสำคัญ ต้องไม่ลืมว่า การที่กิจการดำเนินมาถึงรุ่นเราได้รุ่นพ่อ แม่
ต้องผ่านความยากลำบากมามากมาย ดังนั้น จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่รุ่นพ่อ แม่ จะเกิดความวิตกกังวลต่อหากการเปลี่ยนแปลงที่รุ่นลูกคิดจะทำ การเห็นคุณค่าในสิ่งที่รุ่นพ่อ แม่ทำไว้
ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงจากจุดเล็ก ๆ เพื่อพิสูจน์ให้เขาเห็นว่าเปลี่ยนแล้วดีอย่างไร และการให้คุณพ่อ คุณแม่ได้มีส่วนร่วมคิด คือวิธีการประนีประนอมที่จะเกิดทำให้การในมือรุ่นลูกพัฒนาต่อไปได้
ไม่ว่าอย่างไร พ่อ แม่ทุกคนต่างอยากเห็นลูกสำเร็จ ยิ่งเป็นความสำเร็จในกิจการที่ครอบครัวสร้างมาก พ่อ แม่ยิ่งมีความสุข เพราะความตั้งใจของคนเป็นพ่อ เป็นแม่ย่อมต้องการให้ลูกรับช่วงต่อกิจการ
และอยากเห็นกิจการที่ส่งต่อให้ลูกเจริญรุ่งเรืองยิ่งกว่าที่ตัวเองทำมาอยู่แล้ว หากลูก ๆ เข้าใจในความห่วงใย ความวิตกกังวลของรุ่นพ่อ แม่ การสืบทอดกิจการต่อก็จะราบรื่นไม่มีสะดุดแน่นอน