ทำ Content อาหารอย่างไรให้น่ากิน เล่าเรื่องร้านอย่างไร ให้ขายดี

Oct 27, 2020
            ร้านอาหารหลายร้านมักจะคิดว่า การทำการตลาดออนไลน์บนสื่อโซเชียลคือการโพสต์รูปอาหาร แจ้งข่าวโปรโมชั่น และเมนูแนะนำก็พอ แต่ถ้าเราทำเช่นนั้น ลูกค้าจะมองว่าเพจของเราเป็นเพียงเพจที่โฆษณาขายของทั่วไป ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากดูโฆษณาเท่าไหร่นัก วันนี้ MHA ขอนำเสนอเทคนิคในการทำ Content Marketing ด้วยการเล่าเรื่อง หรือที่เรียกกันว่า Story telling ร้านอาหาร ที่จะช่วยให้ลูกค้ารู้สึกอยากติดตาม และอยากใช้บริการร้านอาหารของเรามากขึ้นอีกด้วย
ทำไมต้องเล่าเรื่องร้านอาหาร
            1. สามารถสร้างความแตกต่างระหว่างร้านเรากับร้านอื่นได้เป็นอย่างดี แม้ว่าการถ่ายภาพ การคุมโทนสี การใส่โลโก้หรือเอกลักษณ์ของร้านลงไปในรูปภาพที่เราลงโปรโมทในสื่อโซเชียล จะเป็นการสร้างความต่างอยู่แล้ว แต่การเล่าเรื่องที่ดี จะช่วยให้ลูกค้าเข้าใจจุดต่างนั้นได้อย่างชัดเจน และรู้จักตัวตนของร้านเรามากขึ้น
            2. ตามหลักจิตวิทยาแล้ว คนเราชอบที่จะคุยกับคนด้วยกัน มากกว่าการคุยกับเครื่องมือหรือระบบอัตโนมัติต่าง ๆ การเล่าเรื่องเป็นการจำลองการพูดคุยระหว่างร้านอาหารกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย เป็รการสร้างปฏิสัมพันธ์หรือความสัมพันธ์อันดีเบื้องต้นกับลูกค้า             
3. นักเล่าเรื่องที่ดีจะสามารถสร้างการติดตาม และการเปิดรับข่าวสารโปรโมชั่นต่าง ๆ ของทางร้านได้ โดยที่ลูกค้าไม่รู้สึกว่าถูกยัดเยียดการขาย นั่นหมายถึง เนื้อหาของร้านเราจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของ Content ที่ลูกค้าต้องเปิดรับเป็นประจำ รวมถึงนำไปสู่การ Like  และ Share  เพื่อเพิ่มยอดผู้เข้าถึงสื่อได้อีกเป็นจำนวนมาก
เริ่มต้นอย่างไรในการเล่าเรื่องร้านอาหาร
            1. กำหนดคาแรคเตอร์ของร้านอาหาร (Characteristic) ให้ลองคิดดูว่า ถ้าร้านอาหารของเราเป็นคน จะเป็นคนประเภทไหนเช่น ร้านส้มตำ รักบ้านเกิด กำหนดคาแรคเตอร์ร้านเป็น คนซื่อ ๆ พูดอะไรตรงไปตรงมา การกำหนดคาแรคเตอร์นี้ จะช่วยให้เรากำหนดแก่นของการเล่าเรื่อง อารมณ์ ลีลาในการเล่าเรื่องได้อย่างไม่ขัดเขินกับภาพลักษณ์ร้านค้าของเรานั่นเอง และถ้าคาแรคเตอร์ที่เรากำหนดขึ้นมานั้นสามารถสื่อสารได้ดี ลูกค้าเข้าใจ เรายังสามารถนำคาแรคเตอร์นั้นไปใช้ในงานออกแบบต่าง ๆ เช่น มาสคอตร้าน โลโก้ร้าน ในอนาคตได้อีกด้วย
            Tip: หากนึกไม่ออกว่าร้านอาหารของเราควรใช้คาแรคเตอร์ใด ให้ลองพิจารณาจากลักษณะคาแรคเตอร์ของเจ้าของร้าน และนำมาสร้างเป็นคาแรคเตอร์ร้านก็ได้ หรือจะตัดเอาลักษณะเฉพาะของเจ้าของร้านบางส่วนมาใช้เป็นคาแรคเตอร์ หรือพิจารณาจากลูกค้าที่มาใช้บริการเป็นหลักก็ได้
2. กำหนดข้อความหลักของร้าน (Key Message) ในการทำคอนเทนต์แต่ละครั้ง เนื้อหาควรจะเป็นไปในทิศทางหลักทางเดียวกัน การกำหนดทิศทางหลักของคอนเทนต์ทั้งหมดนี้เราเรียกกันว่าการกำหนด Key Message ของร้าน เช่น ร้านอาหารที่มีจุดเด่นที่สูตรอาหารเฉพาะ ตกทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น สามารถเล่าเรื่องความเป็นมาของร้าน ของสูตรอาหาร เรื่องราวสมัยโบราณ หรืออาจจะเล่าเรื่องปัจจุบันได้บ้าง แต่ต้องไม่ถึงขนาดเล่าเรื่องในสไตล์โมเดิร์นแบบร้านอาหารสมัยใหม่ ซึ่งจะทำให้คาแรคเตอร์ที่กำหนดเอาไว้ผิดเพี้ยนไปในความรู้สึกของลูกค้า การกำหนด Key Message ที่ดีจะต้องฟังแล้วรู้สึกว่า
           1.  มันใช่! ร้านนี้เป็นแบบนี้แหละ
 2. มันโดน! นี่แหละคือสิ่งที่ลูกค้าต้องการจากร้าน
           โดย Key Message ควรจะกำหนดไว้แบบสั้นๆ กระชับ ได้ใจความ และสื่อสารตัวตนของร้านได้เป็นอย่างดี  
            Tip: หากเรานำ Key Message มาขัดเกลาให้คำสวยงามขึ้น เราจะได้สโลแกนของร้าน Caption รวมถึง #Hashtag ไว้ใช้ในงานทำ Content อื่น ๆ ต่อไป โดยร้านอาจสร้างเป็นสโลแกนร้านไปในคราวเดียวกันนี้เลยก็ได้

Credit เพจ Facebook : อีเหมียวปีนตู้กับข้าว
            3. กำหนดอารมณ์และลีลาในการเล่าเรื่อง อารมณ์และลีลาจะเป็นตัวกำหนดลักษณะการใช้ภาษาในการเล่าเรื่อง และถ่ายทอดความเป็นตัวตนของร้านออกมาเป็นลีลาเฉพาะตัว มักจะใช้ความสนุก ดูอบอุ่น เป็นกันเองในการเล่าเรื่อง หรือบางร้านที่มีลักษณะเฉพาะตัวหรือเล่นมุกตามมีมที่ดังอยู่ในขณะนั้น ดังนั้นในการเล่าเรื่องแต่ละครั้งจึงมีเนื้อหาออกมาสนุกสนานแบบกวน ๆ เล่นมุกตลกบ้าง แต่ก็ยังเชื่อมโยงกับร้านได้

Credit เพจ Facebook : อีเหมียวปีนตู้กับข้าว
            Tip: คนไทยชอบสนุก! การเล่าเรื่องสนุกสนาน หรือเล่าเรื่องให้คนอ่านรู้สึกขำ สามารถเข้าถึงคนอ่านได้มากกว่า แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเล่าเรื่องขำตลอดทุกครั้งไป ให้ขึ้นอยู่เรื่องนั้น ๆ ที่จะนำเสนอแต่ละครั้งด้วย
4. กำหนดตารางเนื้อหาในแต่ละช่วงเวลา ว่าเราจะลงเนื้อหาอะไรบ้าง โดยการเล่าเรื่องอาจกำหนดไว้เป็นสัปดาห์ละ 1-2 เรื่องก็ได้ ตามแต่ละร้านจะสะดวก ทั้งนี้ขอให้ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ เปิดเพจร้านแต่ไม่รู้จะโพสอะไรดี  
เล่าเรื่องอะไรของร้านดีนะ และเล่าจะเรื่องแบบไหนให้น่าอ่าน
1. ลองเริ่มจาก เมนูใดเมนูหนึ่งของร้าน โดยเฉพาะเมนูที่เป็น จานเด็ดของร้าน ลองเล่าถึงส่วนผสม วัตถุดิบ วิธีการปรุง วิธีการทานให้ได้รสชาติดีที่สุด ยิ่งเล่าให้รู้สึกถึงความตั้งใจในการทำเมนูนี้ เพื่อให้ลูกค้าทุกคนได้ทานอาหารที่ดีที่สุดจากทางร้าน และบรรยายถึงรสชาติ จะทำให้น่าสนยิ่งขึ้นไปอีก
รูปแบบ Content : ควรเป็นอัลบั้มภาพหรือคลิปวิดีโอสั้นเมนูนั้น แล้วเขียน Caption ประกอบแบบไม่เกิน 250 - 300 คำ
รูปแบบการเล่าเรื่อง : ขึ้นอยู่กับลีลาการเล่าเรื่องของแต่ละร้าน แต่พยายามใช้การพรรณนาแบบให้เห็นภาพในสิ่งที่ภาพไม่ได้นำเสนอ เช่น รสชาติ กลิ่น รสสัมผัส อาจใช้ภาษาที่ดูโอเวอร์ขึ้นมานิดหน่อยได้ เพื่อสร้างอรรถรสในการอ่าน
ยกตัวอย่าง (ในที่นี้ จะยกตัวอย่างเป็นตารางการลง Content พร้อมรายละเอียด)
2. ที่มาของร้านก็สามารถนำมาเล่าได้ หลายคนสงสัยว่าถ้าร้านที่ไม่มีอดีตยาวนาน หรือไม่มีเรื่องราวให้เล่าจะเล่าที่มาของร้านได้อย่างไร อันที่จริงแล้วเราสามารถ Story ได้จากองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น ก่อนที่จะมาเปิดร้านนี้เจ้าของร้านทำอะไรมาก่อนและมีความสนใจอะไรจึงเปิดร้านนี้ และมีแนวทางในการทำร้านอย่างไร หรือถ้าไม่มีเรื่องราวในอดีตลองมองไปข้างหน้าก็สามารถนำมาสร้างเป็นเรื่องเล่าของร้านได้ เช่น เป้าหมายของร้าน ความสุขที่อยากจะแบ่งปันให้กับลูกค้าได้รับ
รูปแบบ content : ภาพเจ้าของ ผู้ก่อตั้ง ภาพเก่าของร้าน ภาพร้านปัจจุบัน ป้ายร้าน มุมที่เป็น Signature ของร้าน เป็นภาพชุดประกอบการเล่าเรื่อง ไม่เกิน 250-300 คำ แล้วแต่รูปแบบ
รูปแบบการเล่าเรื่อง : ถ้าเป็นร้านที่มีประวัติการสืบทอด ให้ใช้การเล่าเรื่องแบบบรรยาย ผสมกับการพรรณาถึงการสืบทอด ส่งต่อความอร่อยจากรุ่นสู่รุ่น ไปยังลูกค้าตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน หรือถ้าเป็นร้านใหม่ให้ลองเล่าที่มา และประเด็นหลักที่สร้างความแตกต่างให้กับร้านของตนเอง
ยกตัวอย่าง
            3. เกร็ดความรู้เกี่ยวกับอาหาร โดยเฉพาะเมนูของร้าน ทั้งนี้เราสามารถเล่าได้ตั้งแต่ คุณประโยชน์ของแต่ละเมนู ประโยชน์ของส่วนผสม ความเป็นมากว่าจะได้วัตถุดิบนี้มา การเล่าเรื่องแบบนี้จะทำให้ผู้อ่านรู้สึกอยากติดตามมากขึ้น เพราะได้ประโยชน์จากการอ่าน Content ของเรา ในส่วนนี้เราสามารถเล่าเป็นเรื่องยาว หรือปรับให้อยู่ในรูปแบบ Content สั้นประกอบภาพก็ได้ เพื่อเพิ่มความถี่ในการลง Content ของเราในแต่ละสัปดาห์
รูปแบบ content : Infographic หรือ ภาพที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับ Caption ไม่เกิน 250-300 คำ แต่ถ้าใช้ Infographic ก็สามารถลดเนื้อหาลงได้อีก แล้วจึงโยงเข้าสู่เมนูของทางร้าน
รูปแบบการเล่าเรื่อง : -รู้หรือไม่?  -สิ่งที่คนเข้าใจผิด…. -ประโยชน์จาก....... เป็นการเล่าเรื่องที่มีสารประโยชน์  โดยอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ แต่ไม่เล่าในเชิงวิชาการจนเกินไป ให้ใช้อารมณ์และลีลาแบบเดิม แต่เพิ่มความเป็นทางการเข้าไป  อย่าลืมอ้างอิง ด้วยการลง link ของแหล่งข้อมูลที่ค้นมาด้วย
ยกตัวอย่าง
            คงไม่ยากกันเกินไป สำหรับการเล่าเรื่องร้านและเมนูอาหาร สำหรับ Story ใน 3 หมวดใหญ่ที่แนะนำไปนั้น เรายังสามารถแตกย่อยเนื้อหาเป็นตอน หรือสร้างเนื้อหาที่เกี่ยวข้องได้อีกมากมายเลยทีเดียว อันที่จริงแล้วยังมีเนื้อหาอีกมากที่เราสามารถนำมาเล่าได้ ไม่ว่าจะเป็น เทศกาล ความเชื่อ สถานการณ์ปัจจุบัน หรือแม้แต่วาระฉลองครบรอบต่าง ๆ ก็ทางร้านก็สามารถนำมาเป็นเรื่องเล่าได้ 
ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าวัตถุประสงค์ในการเล่าเรื่องคือการทำการทำ Content Marketing รูปแบบหนึ่ง ที่มีเป้าหมายในการโปรโมทร้านของเราให้เป็นที่รู้จัก ดังนั้นต้องไม่ลืมการเชื่อมโยงมายังร้านอาหารของเรา เชื่อมโยงมายังเมนูอาหาร หรือแม้แต่เพิ่มข้อมูลการสั่งอาหารเข้าไปในเนื้อหาตอนท้ายก็ได้ แล้วกลับมาพบเนื้อหาการตลาดออนไลน์จาก MHA ได้ใหม่ในตอนต่อไป

คลิกอ่านบทความน่ารู้ จากแม็คโคร โฮเรก้า อคาเดมี
Explore more topics
เทคนิคการเล่าเรื่อง Storytellingการเล่าเรื่องสินค้าการตลาดเพื่อธุรกิจร้านอาหาร

Keep reading

Get inspired by content for restaurants.

View All Articles
What categories interest you?