สรุปมาตราการ "เปิดร้านอาหาร" ทั้งในห้าง และ Stand Alone

May 19, 2020
ถึงตอนนี้ร้านอาหารก็เปิดให้บริการได้เกือบครบทุกประเภทแล้ว จะยังเหลือก็แต่ร้านประเภทผับ บาร์ที่ยังต้องรอเวลาท้ายสุด แต่ทั้งหมดก็เป็นการเปิดแบบไม่ฟูลออฟชั่น เพราะยังต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ศบค. และมาตรการต่าง ๆ ของรัฐ ซึ่งก็มีอยู่หลายข้อ และมีความต่างกันในรายละเอียดสำหรับร้านอาหารในห้างฯ  และร้านอาหารพื้นที่นอกห้างฯ ที่อาจยังมีผู้ประกอบการสับสนอยู่บ้าง จึงจะมาสรุปมาตรการและขอแนะนำต่าง ๆ สำหรับร้านอาหารในห้าง และ stand alone กันอีกครั้งว่ามีอะไรบ้าง
สรุปมาตราการ/ข้อแนะนำเปิดร้านอาหารทั้งในห้าง และ stand alone   ตามข้อกำหนดของ ศบค. ที่ประกาศลงเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 63 มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับร้านอาหาร ดังนี้ 
มาตรการควบคุมหลัก - ทำความสะอาดพื้น, พื้นผิวสัมผัสบ่อย ๆ ทั้งก่อนและหลังการให้บริการ และให้กำจัดขยะมูลฝอยทุกวัน - ให้ผู้ประกอบการ พนักงานบริการ ผู้ใช้บริการสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า - ให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค - ให้เว้นระยะห่างระหว่างโต๊ะ และระหว่างที่นั่ง รวมถึงระยะห่างระหว่างการเดินอย่างน้อย 1 เมตร - ให้ควบคุมจำนวนผู้ใช้บริการ มิให้แออัด
มาตรการเสริม - มีมาตรการคัดกรองอาการป่วย ไข้ ไอ จาม หรือเป็นหวัด สำหรับผู้ประกอบการ พนักงานบริการ และผู้ใช้บริการ ตามขีดความสามารถ - ลดเวลาในการทำกิจกรรมให้สั้นลงเท่าที่จำเป็น โดยถือหลักหลีกเลี่ยงการติดต่อสัมผัสระหว่างกัน - งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในสถานที่จำหน่ายอาหาร - จัดให้มีพื้นที่รอคิวที่มีที่นั่งหรือยืน ห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร - อาจเพิ่มมาตรการใช้แอพพลิเคชั่นติดตามตัวทางโทรศัพท์เคลื่อนที่มาใช้ได้ตามความเหมาะสม หรือใช้มาตรการควบคุมด้วยการบันทึกข้อมูลและรายงานในบางพื้นที่ได้ โดยทั้งมาตรการหลัก และมาตรการเสริมของ ศบค. นี้ ใช้ปฏิบัติทั้งร้านอาหารในห้าง และ stand alone ซึ่งร้านที่ยังถูกล็อคดาวน์ต่อไปก็คือ ร้านกลุ่มผับ บาร์ ซึ่งทุกข้อนี้เป็นข้อปฏิบัติพื้นฐานที่ร้านอาหารทุกประเภทต้องดำเนินการ คราวนี้มาดูมาตรการข้อกำหนดของ กทม. บ้าง (ทั้งนี้ข้อกำหนดของแต่ละจังหวัดอาจแตกต่างกันแต่พื้นฐานจะต้องอยู่ภายใต้มาตรการหลัก และมาตรการของ ศบค และอาจมีมาตรการที่เข้มข้นกว่าได้) 
มาตรการของกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร - ร้านอาหาร จัดที่นั่งให้มีระยะห่างกัน 1.5 เมตร - ร้านต้องตรวจอุณหภูมิพนักงานและลูกค้าทุกคน - การเข้าแถวซื้ออาหารต้องเว้นระยะ 1.5 เมตร อย่างเคร่งครัด - ร้านชาบู สุกี้ ปิ้งย่าง ห้ามให้ลูกค้าปรุงอาหารเอง ให้สั่งอาหารและมีพนักงานมาเสิร์ฟ -  ร้านข้าวแกง จัดให้มีแผ่นใสกันระหว่างลูกค้ากับถาดอาหาร - ร้านบุฟเฟ่ต์ งดให้บริการในรูปแบบที่ให้ลูกค้าตักอาหารเอง ให้สั่งจากรายการอาหาร - ห้ามมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในร้าน และลูกค้าไม่สามารถพกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากินในร้านได้ - ร้านต้องจัดให้มีเจลล้างมือ ต้องทำความสะอาดสุขาทุก 1 ชั่วโมง ทำความสะอาดโต๊ะเก้าอี้ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทุกครั้งหลังลูกค้าใช้ - ร้านที่มีแอร์ให้หยุดระบายอากาศทุก 2 ชั่วโมง เพื่อทำความสะอาด ให้ติดป้ายแสดงรอบทำความสะอาดที่หน้าร้าน - พนักงานต้องใส่หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า Face Shield ใส่ถุงมือ ผ้ากันเปื้อน ล้างมือทุกครั้งก่อนปรุงอาหารและให้บริการลูกค้า 
ข้อแนะนำจากกรมอนามัย
          กรมอนามัยเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ออกข้อแนะนำแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบกิจการร้านอาหาร ผู้สัมผัสอาหาร และผู้ซื้อ/ผู้บริโภคที่มาใช้บริการ มีรายละเอียดดังนี้
แนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบกิจการ - จัดให้มีการคัดกรองผู้ประกอบกิจการ ผู้สัมผัสอาหาร และผู้ซื้อ ด้วยวิธีการสังเกตหรือสอบถามอาการ หรือใช้เครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย หากพบว่ามีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก หรือเหนื่อยหอบ หรือมีอุณหภูมิร่างกายมากกว่า หรือเท่ากับ 37.5 องศาเซลเซียส แนะนำให้ไปพบแพทย์ -  ทุกคนต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ใช้บริการ - มีมาตรการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล แผงค้า โต๊ะและที่นั่งรับประทานอาหารการซื้อสินค้าและชำระเงิน อย่างน้อย 1-2 เมตร - จัดให้มีที่ล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ ให้บริการแก่ผู้ใช้บริการอย่างเพียงพอ -ทำความสะอาด บริเวณพื้นของสถานที่ปรุง-ประกอบ/จำหน่ายอาหาร โต๊ะและนั่งรับประทานอาหาร พื้นผิวที่มีการสัมผัสบ่อย ด้วยน้ำยาทำความสะอาดหรืออาจใช้น้ำยาฆ่าเชื้อก่อนและหลังการให้บริการทุกครั้ง หากจัดบริการห้องน้ำ ห้องส้วม ให้เน้นบริเวณจุดเสี่ยง เช่น ที่จับสายฉีดชำระ ที่รองนั่งโถส้วม ที่กดโถส้วม โถปัสสาวะ ก๊อกน้ำ ที่เปิดก๊อกอ่างล้างมือ กลอนหรือลูกบิดประตูเป็นต้น - มาตรการป้องกันการปนเปื้อนสู่อาหาร เช่น อาหารปรุงสำเร็จมีการปกปิดอาหารมิดชิด จัดเก็บสูงจากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร และต้องอุ่นอาหารให้ร้อนทุก 2 ชั่วโมง ใช้อุปกรณ์สำหรับการหยิบจับหรือตักอาหาร โดยแยกระหว่างอาหารสุก อาหารดิบ ผัก และผลไม้ ไม่วางอาหารทุกประเภทบนพื้นโดยตรง ไม่ให้ผู้ซื้อใช้มือเปล่า หยิบจับอาหารปรุงสำเร็จพร้อมบริโภค ใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่เหมาะสมตามประเภทอาหาร เป็นต้น - จัดสภาพแวดล้อมในสถานที่จำหน่ายอาหาร เช่น จัดให้มีการระบายอากาศที่เหมาะสม จัดให้มีภาชนะ/อุปกรณ์สำหรับการรับประทานอาหารให้เพียงพอเป็นรายบุคคล เช่น จานอาหาร ช้อน-ส้อม แก้วน้ำ และช้อนกลาง (ประจำตัวบุคคล) จัดบริการกระดาษสำหรับเช็ดปากแบบใช้แล้วทิ้ง จัดทำระบบการสั่งซื้ออาหารหรือจองโต๊ะนั่งรับประทานอาหารล่วงหน้า ระบบชำระเงินออนไลน์ เป็นต้น เพื่ออำนวยความสะดวกและลดการสัมผัสของผู้ใช้บริการ - กำหนดมาตรการเพื่อลดความแออัด เช่น กำหนดจำนวนคนต่อพื้นที่ กำหนดระยะเวลาที่ใช้บริการนั่งรับประทานอาหาร ไม่จัดกิจกรรมหรือให้บริการที่ทำให้เกิดการรวมกลุ่มของผู้ใช้บริการ เช่น การแสดงที่มีผู้คน/การแสดงดนตรีสด และงดจำหน่ายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น - จัดให้มีภาชนะรองรับขยะที่มีฝาปิดไว้ภายในบริเวณสถานที่จำหน่ายอาหาร เก็บรวบรวมขยะ และใส่ถุงขยะปิดปากถุงให้มิดชิดก่อนส่งไปกำจัดอย่างถูกต้อง - สื่อสารและประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ในการป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 เช่น การสวมหน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง ขั้นตอนการล้างมือที่ถูกต้อง เป็นต้น ผ่านช่องทางต่าง ๆ
แนวทางปฏิบัติสำหรับผู้สัมผัสอาหาร และผู้ปฏิบัติงาน -หากมีอาการเจ็บป่วย เช่น มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก หรือเหนื่อยหอบ ให้หยุดปฏิบัติงาน และไปพบแพทย์ทันที - สวมใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย และล้างมือด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์ก่อนปฏิบัติงาน ที่ต้องสัมผัสอาหารทุกครั้ง หลังออกจากห้องส้วม หลังสัมผัสสิ่งสกปรก - มีการป้องกันการปนเปื้อนสู่อาหาร เช่น ผู้สัมผัสอาหารต้องสวมใส่ผ้ากันเปื้อน สวมหมวกหรืออุปกรณ์ ปกปิดเส้นผมในขณะปฏิบัติงาน ปรุง-ประกอบและจำหน่ายอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่เหมาะสมตามประเภทอาหาร อาหารปรุงสำเร็จมีการปกปิดอาหารมิดชิดจัดเก็บสูงจากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร และต้องอุ่นอาหารให้ร้อนทุก 2 ชั่วโมง ใช้อุปกรณ์สำหรับการหยิบจับหรือตักอาหารโดยแยกระหว่างอาหารสุก อาหารดิบ ผักและผลไม้ ไม่วางอาหารทุกประเภทบนพื้นโดยตรง ป้องกันไม่ให้ผู้ซื้อใช้มือเลือกหรือสัมผัสอาหารประเภทเนื้อสัตว์สด/อาหารปรุงสำเร็จพร้อมบริโภคโดยตรง เป็นต้น - ลดการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ใช้บริการ เช่น การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 1 - 2 เมตร มีระบบการสั่งซื้ออาหาร/จองโต๊ะนั่งรับประทานอาหารล่วงหน้า/การชำระเงินแบบออนไลน์มีอุปกรณ์สำหรับรับเงิน เป็นต้น - ผู้ปฏิบัติงานทำความสะอาดและล้างภาชนะอุปกรณ์ ต้องสวมถุงมือยาง ผ้ายางกันเปื้อน รองเท้าพื้นยางหุ้มแข้ง และใช้ปากคีบด้ามยาวเก็บขยะ และใส่ถุงขยะปิดปากถุงให้มิดชิด และล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังปฏิบัติงาน เมื่อปฏิบัติงานเสร็จในแต่ละวันให้อาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที แนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ซื้อ/ผู้บริโภค - สวมใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย หากมีอาการเจ็บป่วย เช่น มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก หรือ เหนื่อยหอบ งดไปใช้บริการในสถานที่จำหน่ายอาหาร และไปพบแพทย์ทันที - ล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ ก่อนและหลังการใช้บริการ - เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1-2 เมตร - วางแผนหรือเลือกรูปแบบการซื้ออาหาร เช่น จัดเตรียมเมนูอาหาร การสั่งจองอาหารล่วงหน้าการเลือกซื้ออาหารและใช้บริการจัดส่งอาหารผ่านระบบออนไลน์ เพื่อความรวดเร็วและลดการสัมผัสกับสถานที่จำหน่ายอาหาร/ผู้สัมผัสอาหาร/ผู้ใช้บริการ
www.ไทยชนะ.com แพลตฟอร์มสำหรับห้าง ร้าน ลูกค้า เก็บข้อมูลป้องกันโควิดถึงวันนี้หลายคนคงเริ่มคุ้นเคยกับการลงทะเบียนเข้าห้างฯ ออกห้างฯ เข้าร้าน ออกร้าน เข้าแบงค์ ออกแบงค์ ฯลฯ ผ่านแพลตฟอร์ม “
ไทยชนะ” ซึ่งเป็นแพลทฟอร์มของรัฐสำหรับใช้เก็บข้อมูลห้าง ร้าน และลูกค้าที่มาใช้บริการป้องกันโควิด กรณีหากพบผู้ติดเชื้อในบริเวณใด ก็จะสามารถรู้ได้ว่า มีใครเข้าใช้บริการในจุดที่ติดเชื้อบ้าง เพื่อนำไปสู่การติดตามตัวมารักษาหรือกักตัวเฝ้าระวังต่อไป รวมถึงระบบจะทำหน้าที่คัดกรองจำนวนคนเข้าร้านและแจ้งเตือนไปยังผู้ใช้งาน บอกให้ทราบถึงจำนวนผู้มาใช้บริการในแต่ละรอบว่าเต็มหรือยัง หรือรับได้อีกกี่คนตามมาตรการลดการแออัด
โดยร้านค้าสามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.ไทยชนะ.com จะมีขั้นตอนให้ดำเนินการต่าง ๆ ทำตามขั้นตอนจนครบก็จะได้รับคิวอาร์โค้ด จากนั้นนำคิวอาร์โค้ดแปะไว้ที่ร้าน หรือโพสต์ตามช่องท่างสื่อสารของร้านให้ลูกค้าทราบ เพื่อให้ลูกค้าสแกนเช็กอิน และเช็กเอาต์ เก็บข้อมูล ทั้งนี้แพลตฟอร์มไทยชนะไม่ได้เป็นข้อบังคับให้ร้านค้าต้องใช้ เป็นเพียงการขอความร่วมมือให้ใช้ เพื่อเป็นส่วนช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งกรณีร้านค้าในห้างฯ ก็อาจจำเป็นต้องใช้ตามข้อกำหนดของห้างฯ และทั้งหมดนี้เป็นการสรุปรวบรวมมาตราการ/ข้อแนะนำเปิดร้านอาหาร ทั้งในห้าง และ stand alone โดยลัก ๆ ที่ต้องปฏิบัติก็จะเป็นในส่วนมาตรการควบคุมหลัก และมาตรการเสริมของ ศบค. รวมไปถึงมาตรการข้อห้ามของหน่วยงานท้องถิ่น เช่น กรุงเทพมหานคร ส่วนมาตรการนอกเหนือจากนี้ ก็ขึ้นอยู่กับศักยภาพของผู้ประกอบการในการจัดทำ เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับลูกค้ามาใช้บริการ ยิ่งลูกค้ามั่นใจก็ยิ่งเป็นเรื่องดี เพิ่มโอกาสการขายตามมานั่นเอง คลิกอ่านบทความอื่นๆ ได้ที่นี่
Explore more topics
มาตรการผ่อนปรน ศบค.คู่มือเปิดร้านอาหารการจัดการร้านอาหาร

Keep reading

Get inspired by content for restaurants.

View All Articles
What categories interest you?