กฎหมายร้านอาหาร ที่ผู้ประกอบการควรรู้ และไม่ควรมองข้าม!

13 มี.ค. 2563
จะเปิดร้านอาหารต้องขออนุญาต หรือมีข้อกำหนดกฎบังคับอะไรบ้าง ที่ผู้ประกอบการต้องดำเนินการ บทความนี้มีคำตอบ เพราะเรารวมกฎหมาย ข้อกำหนด กฎบังคับ ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดร้านอาหารมาแบ่งปันซึ่งสำคัญทุกข้อ ถ้าไม่ทำให้ถูกต้องแต่แรกมีบทลงโทษทางกฎหมายทั้งจำ ทั้งปรับ

กฎหมายด้านสาธารณสุข เรื่องพื้นฐานทุกร้านอาหารต้องเคลียร์

            ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ระบุว่าร้านอาหารจัดเป็นสถานที่จำหน่ายอาหาร อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของราชการส่วนท้องถิ่น ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, เทศบาล, สุขาภิบาล, องค์การบริหารส่วนจังหวัด, องค์การบริหารส่วนตำบล และเมืองพัทยา ดังนั้น ผู้ที่จะประกอบกิจการร้านอาหารต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข ดังนี้


ผู้ประกอบการกิจการร้านอาหารที่มีพื้นที่ของร้านมากกว่า 200 ตารางเมตร ต้อง ขออนุญาตประกอบกิจการต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้วจึงจะเปิดดำเนินกิจการได้ ใบอนุญาตจะมีอายุหนึ่งปี และการขอต่ออายุใบอนุญาตจะต้องยื่นคำขอก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ

ร้านอาหารที่มีพื้นที่ของร้านไม่เกิน 200 ตารางเมตร เมื่อเปิดดำเนินกิจการต้อง แจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น เพื่อขอหนังสือรับรองการแจ้ง และเมื่อประสงค์จะเลิกกิจการ หรือโอนกิจการให้แก่บุคคลอื่น ต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบด้วย

การยื่นคำขอใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และการขอหนังสือรับรองการแจ้ง ให้ยื่นได้ที่ส่วนราชการต่าง ๆ ดังนี้

✔️สำนักงานเขตของกรุงเทพมหานคร (สำหรับร้านอาหารที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร)
✔️สำนักงานเทศบาล (สำหรับร้านอาหารที่ตั้งอยู่ในเขตเทศบาล)
✔️สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบล (สำหรับร้านอาหารที่ตั้งอยู่ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล)
✔️สำนักงานเมืองพัทยา (สำหรับร้านอาหารที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองพัทยา)
✔️ผู้ประกอบกิจการร้านอาหารจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ราชการส่วนท้องถิ่นกำหนด
✔️ผู้ประกอบกิจการร้านอาหารโดยไม่มีใบอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน หกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
✔️ผู้ประกอบกิจการร้านอาหารโดยไม่มีหนังสือรับรองการแจ้ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท
✔️ผู้ประกอบกิจการร้านอาหารต้องแสดงใบอนุญาต หรือหนังสือรับรองการแจ้งไว้โดยเปิดเผย และเห็นได้ง่าย ในบริเวณร้านอาหาร ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท



กฎกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561

หรือที่มักเรียกกันว่าหลักสุขาภิบาลอาหาร ก็เป็นอีกหนึ่งข้อบังคับที่ทุกร้านอาหารต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ถ้าใครละเลยมีบทลงโทษอะไรบ้างไปดูกัน

หมวด 1 เรื่องสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร

ข้อ 1 สถานที่จำหน่ายอาหาร เช่น พื้นที่ใช้ทำประกอบปรุงอาหาร ต้องสะอาด แข็งแรง ไม่ชำรุด ระบายอากาศเพียงพอ มีแสงสว่างที่เหมาะสม มีที่ล้างมือ หรืออุปกรณ์ทำความสะอาดมือที่เหมาะสม โต๊ะที่ใช้เตรียมอาหาร ต้องสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร มีสภาพดี

ข้อ 2 ในส่วนของสถานที่จำหน่ายอาหารต้องมีการจัดการเกี่ยวกับส้วม ที่สภาพดี พร้อมใช้ และจำนวนเพียงพอ สะอาด ระบายน้ำดี แยกเป็นสัดส่วน ประตูไม่เปิดโดยตรงสู่บริเวณที่ประกอบอาหาร เว้นแต่จัดการส้วมให้สะอาดเสมอ มีฉากปิดกั้นที่เหมาะสม ประตูส้วมปิดตลอดเวลา มีอ่างล้างมือถูกสุขลักษณะ และเพียงพอ

ข้อ 3 มีการจัดการเกี่ยวกับมูลฝอยอย่างดี

ข้อ 4 ต้องจัดการเกี่ยวกับน้ำเสีย ระบายน้ำดี ไม่มีเศษอาหาร แยกเศษอาหาร แยกไขมันก่อนระบายน้ำทิ้งสู่ระบบระบายน้ำ ได้มาตรฐานตามกฎหมายว่าด้วยส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม

ข้อ 5 ต้องมีมาตรการป้องกันสัตว์​ แมลงนำโรค และสัตว์เลี้ยง

ข้อ 6 ต้องมีเครื่องมือป้องกันอัคคีภัย


หมวด 2 สถานที่จำหน่ายอาหาร

ข้อ 7 อาหารสดที่มาปรุง ต้องคุณภาพดี สะอาด ปลอดภัย เก็บในอุณหภูมิที่เหมาะสม เป็นสัดส่วน ปกปิด ไม่วางบนพื้นหรือที่อาจทำให้อาหารเปื้อน

ข้อ 8 อาหารแห้งต้องไม่มีการปนเปื้อน ในภาชนะที่บรรจุปิดสนิท เครื่องปรุงรส ต้องได้มาตรฐาน

ข้อ 9 อาหารปรุงสำเร็จต้องเก็บในภาชนะที่สะอาด วางสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร

ข้อ 10 น้ำดื่ม เครื่องดื่ม ที่ปิดสนิท วางสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 15 เซนติเมตร ต้องทำความสะอาดภายนอกภาชนะก่อนให้บริการ ถ้าเป็นเครื่องดื่มที่ไม่ได้อยู่ในภาชนะปิดสนิท ต้องวางสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร

ข้อ 11 ต้องใช้น้ำที่มีคุณภาพไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ของกรมอนามัย

ข้อ 12 ต้องจัดการเกี่ยวกับน้ำแข็ง เช่น สะอาด เก็บในภาชนะที่สะอาดมีฝาปิด วางสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 15 เซนติเมตร ปากขอบภาชนะสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร ไม่ระบายน้ำจากถังสู่พื้นที่วางภาชนะ ใช้อุปกรณ์คีบหรือตักน้ำแข็ง สะอาดมีด้ามจับ ห้ามนำอาหารหรือสิ่งของไปแช่รวมกับน้ำแข็งสำหรับบริโภค

ข้อ 13 เกี่ยวกับน้ำใช้ ต้องเป็นน้ำประปา ถ้าไม่มีให้ใช้น้ำคุณภาพเทียบเท่า

ข้อ 14 สารเคมี สารทำความสะอาด วัตถุมีพิษ ต้องติดฉลาก ป้ายให้เห็นชัดเจน คำเตือน แยกเป็นสัดส่วนจากบริเวณที่ใช้ทำ หรือ จำหน่ายอาหาร ห้ามนำภาชนะบรรจุอาหารมาใช้บรรจุสารเคมี

ข้อ 15 ห้ามใช้ก๊าซหุงต้มเป็นเชื้อเพลิงในการทำ ประกอบหรือปรุงอาหารบนโต๊ะ หรือที่รับประทานในสถานที่จำหน่ายอาหาร

ข้อ 16 ห้ามใช้เมทานอล หรือเมทิลแอลกอฮอลล์ เป็นเชื้อเพลงในการทำ ประกอบ ปรุง หรืออุ่นอาหาร เว้นแต่เป็นแอลกอฮอล์แข็ง


หมวด 3 เกี่ยวกับภาชนะ อุปกรณ์ ในสถานที่จำหน่ายอาหาร

ข้อ 17 ต้องใช้วัสดุปลอดภัย สภาพดี เก็บวางสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร ปกปิดป้องกันการปนเปื้อน ให้มีช้อนกลาง ตู้เย็น ตู้แช่ ตู้อบ เตาอบ ไมโครเวฟ ต้องสภาพดี ไม่ชำรุด

ข้อ 18 เก็บอุปกรณ์ที่สามารถป้องกันสัตว์และแมลงนำโรคได้ ฆ่าเชื้อภาชนะ หลังทำความสะอาด

สามารถเรียนรู้ เทคนิคการจัดเก็บวัตถุดิบอย่างมืออาชีพ ในคอร์สเรียนออนไลน์ฟรี!  ซึ่งจะสอนวิธีการเก็บวัตถุดิบแต่ละประเภทที่ถูกต้อง และคงคุณภาพวัตถุดิบให้สดใหม่อยู่เสมอ

หมวด 4 เกี่ยวกับผู้ประกอบกิจการ และผู้สัมผัสอาหาร และการปรับปรุงตามกฎกระทรวง

ข้อ 19 ต้องสุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นโรคติดต่อ หรือพาหะนำโรคติดต่อ โรคผิวหนังที่น่ารังเกียจ ผ่านการอบรมตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา ผู้สัมผัสอาหารต้องสวมใส่เสื้อผ้า อุปกรณ์ป้องกันที่สะอาด ป้องกันปนเปื้อนสู่อาหารได้ ต้องล้างมือ ไม่กระทำการใด ๆ ที่ทำให้เกิดการปนเปื้อนต่ออาหาร หรือเกิดโรค


ข้อ 20 สถานที่จำหน่ายอาหารที่ได้รับใบอนุญาต หรือหนังสือรับรองก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้แก้ไขปรับปรุงภายใน 180 วัน นับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ เว้นแต่ ถ้าสถานที่นั้นมีพื้นที่ไม่เกิน 200 ตารางเมตรให้แก้ไขภายใน 1 ปี ส่วนการดำเนินการตามข้อ 21 ในส่วนการอบรมตามเกณฑ์ฯนั้นให้ดำเนินการภายใน 2 ปี

สำหรับบทลงโทษกรณีที่ร้านอาหารไม่ได้ปฏิบัติตามกฎกระทรวงฉบับนี้นั้นไม่ได้ระบุเรื่องบทลงโทษไว้ แต่สามารถอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2560 มาใช้ลงโทษได้นั่นคือต้องระวังปรับ 50,000 บาท


กฎหมายแรงงานอย่ามองข้ามเรื่องนี้


อีกหนึ่งกฎหมายที่ผู้ประกอบการร้านอาหารต้องให้ความสำคัญ เพราะถ้าผิดพลาดไปมีโอกาสโดนทั้งจำทั้งปรับได้เช่นกัน นั่นก็คือ กฎหมายแรงงาน

หนึ่งในประเด็นที่ผู้ประกอบการมักจะทำผิดกฎหมายแรงงานโดยไม่รู้ตัวก็คือ “หมวดการใช้แรงงานทั่วไป” ซึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานได้กำหนดเรื่องการใช้งานแรงงาน วันหยุด วันลาไว้เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องรู้และต้องระมัดระวังในการกระทำผิดไปจากกฎหมายกำหนดเพราะอาจถูกลูกจ้างลูกเรียนนำมาซึ่งการถูกลงโทษตามกฎหมายได้ ขอยกรายละเอียดเนื้อหาตามกฎหมายเฉพาะประเด็นที่ผู้ประกอบการมักทำผิดมาให้ได้ศึกษา ดังนี้

  1. เวลาทำงานปกติ
งานทั่วไปไม่เกิน 8 ชม./วัน หรือตามที่นายจ้างลูกจ้างตกลงกัน และไม่เกิน 48 ชม./สัปดาห์

  1. เวลาพัก
ระหว่างการทำงานปกติ : ไม่ น้อยกว่า 1 ชม./วัน หลังจากลูกจ้างทำงานมาแล้วไม่เกิน 5 ชม. ติดต่อกัน หรืออาจตกลงกันพักเป็นช่วง ๆ ก็ได้แต่รวมแล้วต้องไม่น้อยกว่า 1 ชม./วัน งานในร้านขายอาหารหรือร้านขายเครื่องดื่มซึ่งเปิดจำหน่ายหรือให้บริการในแต่ ละวันไม่ติดต่อกัน อาจพักเกิน 2 ชม./วันก็ได้

นายจ้างอาจจะไม่จัดเวลาพักได้กรณีเป็นงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำ ติดต่อกันไปโดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้างหรือเป็นงานฉุกเฉิน

ก่อนการทำงานล่วงเวลา : กรณีให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาต่อจากเวลาทำงานปกติไม่น้อยกว่า 2 ชม. ต้องจัดให้ลูกจ้างพักก่อนเริ่มทำงานล่วงเวลาไม่น้อยกว่า 20 นาที


  1. วันหยุด
วันหยุดประจำสัปดาห์ : ไม่ น้อยกว่า 1 วัน/สัปดาห์ โดยให้มีระยะห่างกันไม่เกิน 6 วัน สำหรับงานโรงแรม งานขนส่ง งานในป่า งานในที่ทุรกันดาร หรืองานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงอาจตกลงกันสะสมและเลื่อนวันหยุดประจำ สัปดาห์ไปหยุดเมื่อใดก็ได้ภายในระยะเวลา 4 สัปดาห์ติดต่อกัน

วันหยุดตามประเพณี : ไม่ น้อยกว่า 13 วัน/ปี โดยรวมวันแรงงานแห่งชาติ โดยพิจารณาจากวันหยุดราชการประจำปี วันหยุดทางศาสนาหรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าวันหยุดตามประเพณีตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ให้หยุดชดเชยวันหยุดตาม ประเพณีในวันทำงานถัดไป สำหรับงานในกิจการโรงแรม สถานมหรสพ ร้านขายอาหาร ร้านขายเครื่องดื่ม ฯลฯ อาจตกลงกันหยุดวันอื่นชดเชยวันหยุดตามประเพณี หรือจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้ก็ได้

วันหยุดพักผ่อนประจำปี : ไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน/ปี สำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาครบ 1 ปี อาจตกลงกันล่วงหน้าสะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปี ไปรวมหยุดในปีต่อ ๆ ไปได้


  1. วันลา
วันลาป่วย : ลูกจ้าง ลาป่วยได้ตามจริง โดยได้รับค่าจ้างไม่เกิน 30 วัน และหากลาติดต่อกัน 3 วันขึ้นไปต้องมีใบรับรองแพทย์

วันลากิจ : ลูกจ้างลาโดยมีเหตุธุระจำเป็นได้ไม่น้อยกว่า 3 วันต่อปี โดยมีสิทธิได้รับค่าจ้างตามปกติไม่เกิน 3 วันต่อปีวัน

ลารับราชการทหาร : ลูกจ้างลาได้เท่ากับจำนวนวันที่ทางการทหารเรียก และได้รับค่าจ้างตลอดเวลาที่ลาแต่ไม่เกิน 60 วันต่อปีวัน

ลาคลอดบุตร : ลูกจ้างหญิงมีครรภ์ลาเพื่อคลอดบุตรได้ครรภ์หนึ่งไม่เกิน 98 วัน โดยนับรวมวันลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตรด้วย ซึ่งนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้ไม่เกิน 45 วัน

ลาฝึกอบรม : ลาได้โดยไม่ได้รับค่าจ้างในวันนั้น

นอกจากเรื่องกฎหมายแรงงานที่ผู้ประกบอบการร้านอาหารควรรู้แล้ว การบริหารจัดการพนักงานในธุรกิจร้านอาหาร ก็เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราบริหารคนได้ดี ธุรกิจของเราก็ดีตามไปด้วย คลิกเรียนได้ในคอร์สเรียนออนไลน์ฟรีนี้

และสามารถอ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตประกอบกิจการค้า การจดทะเบียนพาณิชย์ การขออนุญาตขายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ ส่วนในประเด็นอื่น ๆ เช่นกฎหมายลิขสิทธิ์เพลง การถ่ายทอดสดกีฬาไว้โอกาสหน้าจะนำมาบอกเล่ากันอีกครั้ง
สำรวจหัวข้อเพิ่มเติม
กฎหมายเกี่ยวกับร้านอาหารมือใหม่เปิดร้านอาหาร

Keep reading

รับแรงบันดาลใจจากเนื้อหาสำหรับร้านอาหาร

ดูบทความทั้งหมด
คุณสนใจหมวดหมู่ใด