วิธีเช็ค ทำไมธุรกิจแฟรนไชส์ถึงไปไม่รอด?

31 ก.ค. 2566
วิธีเช็ค ทำไมธุรกิจแฟรนไชส์ถึงไปไม่รอด? เพราะการทำธุรกิจแฟรนไชส์ร้านอาหาร ไม่ใช่การซื้อความสำเร็จของคนอื่นมาทำต่อ ถ้าเลือกธุรกิจไม่ดีก็ไปไม่รอด เช็คด่วนก่อนลงทุนซื้อแฟรนไชส์มาทำ หรือลงทุนไปแล้วเริ่มไม่ชอบมาพากล แฟรนไชส์แบบไหนเสี่ยงเจ๊ง? มีวิธีดูอย่างไร?
เจ้าของเน้นขาย "แฟรนไชส์" อย่างเดียว

1.เจ้าของเน้นขาย "แฟรนไชส์" อย่างเดียว
มากเกินไป แฟรนไชส์ที่ดีควรมีระบบการช่วยเหลือที่ชัดเจน เริ่มตั้งแต่ปรึกษาด้านทำเล อบรมพนักงาน ช่วยวางแผนการบริหาร มีคู่มือการปฏิบัติงานที่ชัดเจน และสามารถติดต่อได้เมื่อผู้ร่วมลงทุนเกิดปัญหาขึ้น แต่มีแฟรนไชส์จำนวนมากที่เอาแต่เน้นขายสิทธิ์ ขายแบรนด์ ขายอุปกรณ์และสูตร ทั้งขายขาดหรือขายไม่ขาดต้องจ่ายรอยัลตี้ฟีต่อเดือน แต่ไม่ได้มีระบบช่วยเหลือผู้ร่วมลงทุนที่ดีพอ ไม่มีการช่วยสำรวจทำเล ไม่มีการให้คำปรึกษาการขาย หรือร้ายที่สุดไม่มีคู่มืออะไรให้เลย อาจจะมีเทรนให้ 1-2 ครั้ง เท่านั้น แล้วจบกัน ที่เหลือให้ผู้ร่วมลงทุนไปบริหารจัดการเอาเองทั้งหมด แบบนี้ไม่น่าจะไปรอด
ขายแฟรนไชส์ประเภทอาหารไม่ได้เป็นที่ต้องการของตลาด

2. ขายแฟรนไชส์ประเภทอาหารไม่ได้เป็นที่ต้องการของตลาด
หลายคนมักจะพลาดกัน โดยเฉพาะคนที่ซื้อแฟรนไชส์มาทำเพราะเห็นว่ากระแสช่วงนั้นมาแรง แต่...ธรรมชาติของคนไทย กระแสอะไรที่มาไว ก็ไปไวเช่นกัน เราจะเห็นได้จากอาหารหลายอย่างที่เคยฮิต ตอนนี้เริ่มหายไปจากกระแส เช่น ไอติมทอด เครปเย็น และอาหารอื่นๆ ที่ลูกค้าไม่ได้นิยมทานซ้ำ มาลองให้รู้ก็พอ แฟรนไชส์แบบนี้มักจะไม่ยั่งยืน สู้แฟรนไชส์ที่เป็นของกินหรือของกินเล่นที่คนนิยมกินกันเป็นประจำพวก ของทอด หมูปิ้ง ชานม แบบนี้ไม่ได้
ขาดระบบบริหารที่ดี หรือขาดมาตรฐานการทำงานที่ชัดเจน

3. ขาดระบบบริหารที่ดี หรือขาดมาตรฐานการทำงานที่ชัดเจน
แฟรนไชส์ไม่ใช่การเริ่มต้นใหม่ แต่คือการนำเทคนิควิธีทำงาน การบริหารจัดการของเจ้าของแฟรนไชส์มาปฏิบัติตาม อาจจะมีการปรับให้เข้ากับทำเลขายบ้างตามสมควร ดังนั้นการมีระบบบริหารที่ดีมาตั้งแต่ต้นจึงสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นระบบการบริหารวัตถุดิบ สต็อกสินค้า ระบบบัญชี และการบันทึกยอดขาย ต้องมีการบริหารพนักงานที่ดี และต้องมีคู่มือปฏิบัติงานที่ชัดเจนเป็นมาตรฐานเดียวกัน สำหรับทั้งผู้ลงทุนและพนักงานได้ศึกษาและทำตามอย่างเคร่งครัด
เน้นคำโปรยขายฝัน

4. เน้นคำโปรยขายฝัน เช่น  “ร่วมลงทุนกับเรา คืนทุนใน 3 เดือน” “การันตียอดขาย หลักหมื่นต่อเดือน” คำเหล่านี้เราจะเจอเป็นประจำเวลาที่เจ้าของแฟรนไชส์จะชักจูงให้เราลงทุนซื้อแฟรนไชส์ คำโฆษณาเหล่านี้อาจจะไม่ผิด เพราะมีคนที่ทำได้แบบนั้นจริง ๆ แต่ต้องไม่ลืมว่า แม้จะเป็นแฟรนไชส์ยี่ห้อดัง แต่การจะขายดีหรือขายไม่ดี ยังมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นทำเลที่ตั้ง กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ ฯลฯ ดังนั้นสิ่งที่ควรจะมาพร้อมกับนโยบายขายฝัน คือแผนธุรกิจที่รัดกุมชัดเจน และนำไปสู่ฝันที่วางไว้ได้อย่างใกล้เคียงที่สุด ระบุข้อจำกัด พร้อมทั้งมีตัวอย่างเคสที่ประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จให้ศึกษา
เจ้าของแฟรนไชส์หยุดทำการตลาด

5. เจ้าของแฟรนไชส์หยุดทำการตลาด
ยุคนี้เจอบ่อย โดยเฉพาะแฟรนไชส์ที่ขายขาด จ่ายเงินแล้วจบกัน ปกติแฟรนไชส์มักจะเกิดขึ้นจากการทำธุรกิจอย่างหนึ่งจนประสบความสำเร็จแล้ว เป็นที่รู้จักในตลาด แล้วจึงผู้ร่วมลงทุนมาร่วมขยายธุรกิจเปิดสาขาเพิ่ม เป็นการลดความเสี่ยงกับผู้ร่วมลงทุน นั่นหมายถึงนอกจากจะขายแฟรนไชส์แล้ว ยังต้องทำการตลาดเพื่อให้แบรนด์แฟรนไชส์ยังคงติดตลาดต่อไปด้วย ตรงนี้เจ้าของแฟรนไชส์จึงมักเรียกเก็บค่ารอยัลตี้ฟีจากผู้ซื้อ เพราะนำมาใช้ในการทำการตลาดแบรนด์โดยรวมนั่นเอง แต่ถ้าเจ้าของแฟรนไชส์ไม่ทำตลาดต่อ แปลว่าผู้ลงทุนแต่ละสาขาจะมีภาระในการทำการตลาดเพิ่มขึ้น ซึ่งหลายคนไม่ได้ถนัดสิ่งนี้ แล้วถ้าแต่ละสาขาทำการตลาดไม่เหมือนกันหละ? ลูกค้าสับสนแน่นอน
ไม่สามารถคุมราคาได้ในทุก ๆ สาขา

6. ไม่สามารถคุมราคาได้ในทุก ๆ สาขา
ปกติเจ้าของแฟรนไชส์จะทำข้อตกลงในการขายกับสาขาย่อย ซึ่งทั้งหมดจะรับนโยบายโดยตรงจากเจ้าของแฟรนไชส์ ทั้งเรื่องราคาและการทำโปรโมชั่น แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเจ้าของแฟรนไชส์ไม่สามารถควบคุมแต่ละสาขาได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ สาขาไหนที่ขายไม่ดีก็จะพยายามทำโปรโมชั่นด้วยการตัดราคาลง หรือขายถูกกว่าสาขาอื่น มองเผิน ๆ เหมือนไม่มีอะไร แต่นี่คือการตัดราคาแข่งขันกันเอง นอกจากจะเหนื่อยแข่งกับคู่แข่งอื่นแล้ว ยังต้องมาแข่งกับคู่แข่งยี่ห้อเดียวกันอีก อันนี้ไม่ควรเลย

ทั้ง 6 ข้อนี้ เป็นวิธีเช็คเบื้องต้นที่สามารถสังเกต หรือศึกษาข้อมูลธุรกิจแฟรนไชส์นั้นได้ไม่ยาก เพื่อให้ผู้ที่อยากเริ่มต้นมีธุรกิจตรวจสอบ เพื่อให้เราสามารถเลือกธุรกิจแฟรนไชส์ได้ดีขึ้น ลดโอกาสการโดนหลอก ไปไม่รอด และไม่ทำให้เงินลงทุนคุณสูญเปล่าโดยใช่เหตุ
สำรวจหัวข้อเพิ่มเติม

Keep reading

รับแรงบันดาลใจจากเนื้อหาสำหรับร้านอาหาร

ดูบทความทั้งหมด
คุณสนใจหมวดหมู่ใด