ดึงสติ! เทรนด์ฮิตอาหารจานยักษ์ อาจต้องพักถ้าไม่ทำกำไรให้กับร้าน!

06 ธ.ค. 2562
"เมนูจานยักษ์" ที่เรามักเห็นในโลกโซเชี่ยลในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าเป็นกลยุทธ์ที่น่าสนใจและสร้างความแตกต่าง เกิดจุดเด่นให้กับร้านอาหารธรรมดาที่ไม่เป็นที่รู้จักกลายเป็นป๊อปปูล่าในโลกโซเซียลและสื่อต่าง ๆ ได้ชั่วข้ามคืน แต่ในแง่มุมของการทำธุรกิจร้านอาหารนั้น จริง ๆ เหล่าเมนูจานยักษ์ที่เป็นเสมือนซุปเปอร์ฮีโรนี้เป็นเมนูที่ทำกำไรให้กับร้านได้ดีจริงหรือ และทุกร้านควรมีเมนูจานยักษ์ไว้เรียกลูกค้าหรือไม่ เรามีบทวิเคราะห์มาบอก หน้าที่สำคัญของเมนูจานยักษ์           เมื่อพูดถึงเมนูจานยักษ์สิ่งแรกที่ผู้ประกอบการต้องทราบคือ วัตถุประสงค์หลักของการทำเมนูจานยักษ์เพื่ออะไร ซึ่งถ้าว่ากันตามจริงเมนูจานยักษ์ก็เป็นหนึ่งใน Content การตลาดของร้าน เป็นเครื่องมือที่จะสร้างจุดเด่น เกิดกระแส ทำให้คนรู้จัก เพราะในยุคปัจจุบัน การทำการตลาดออนไลน์คือสิ่งสำคัญหากจะใช้การตลาดในรูปแบบเก่า ๆ เช่น แจกใบปลิว ติดป้ายประชาสัมพันธ์ คงไม่ทันกินคู่แข่ง แต่ในการทำการตลาดแบบถ่ายรูปสวยเผยแพร่ออกไป ๆ แล้วบอกว่าอาหารร้านเราอร่อย ใคร ๆ ก็ทำกันจนเป็นเรื่องธรรมดาไม่ได้สร้างจุดเด่นอะไร ต่างจากการทำเมนูจานยักษ์ที่ได้ทั้งความแปลกและเกิดกระแสตามมา ทำให้หลาย ๆ ร้านอาหารที่ขายอาหารธรรมดา ๆ ไม่ว่าจะเป็น ข้าวมันไก่ บะหมี่ ส้มตำ กะเพรา หยิบเอาไอเดียจานยักษ์มาเป็นเมนูเรียกแขกเกิดความแตกต่างจากร้านอื่น ๆ และได้ภาพถ่ายที่สวยงาม จนคนที่เห็นเมนูนี้เกิดความสนใจและอยากมาลอง
เมนูจานยักษ์ไม่ใช่เมนูจานหลักที่ต้องทุ่มเททุกอย่างเพื่อมัน แต่สิ่งที่ต้องฝากดึงสติกันก็คือ เมนูจานยักษ์ไม่ใช่เมนูจานหลักที่จะทำกำไรให้กับร้านเป็นกอบเป็นกำเพราะในการทำเมนูจานยักษ์แม้จะมีข้อดี แต่ก็มีข้อเสียที่ต้องระวังให้มากเช่นกัน ข้อดีของการทำเมนูจานยักษ์ - เกิดความแตกต่างจากร้านอื่น ๆ ทำให้เกิดความน่าสนใจ เกิดกระแส ได้ออกสื่อฟรี - เกิดการชวนเพื่อน แทนที่จะมีคนเห็นสื่อนี้เพียง 1 คน แต่ด้วยปริมาณที่ใหญ่ไม่สามารถกินได้ 1-2 คนหมดจึงเกิดการ Tag เพื่อนในโลกโซเชี่ยล ทำให้มีคนรู้จักร้านของเราได้มากขึ้นอีกด้วย ข้อควรระวังที่อาจทำให้ร้านพังทั้งระบบ - ระยะเวลาในการทำอาหารนานกว่าเมนูปกติ เมื่อจานใหญ่ขึ้นก็ต้องใช้เวลาทำมากขึ้น อาจทำให้ลูกค้ารอนาน จนเกิดคอมเพลนได้ (แต่ประเด็นนี้สามารถแก้ไขได้โดยการระบุในเมนูไว้ว่า "เมนูนี้ต้องรอประมาณ 20 นาที" เป็นต้น) แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่าก็คือ ถ้ามีออเดอร์เมนูจานยักษ์เข้ามาพร้อม ๆ กันหลายออเดอร์ระบบในครัวจะรับมือไหวหรือไม่! - การคำนวณต้นทุนต่อเสิร์ฟที่มีโอกาสผิดพลาดได้สูง เมนูจานยักษ์ส่วนใหญ่มักจะนำเมนูทั่วไปมาทำให้ใหญ่ขึ้น เช่น บะหมี่ ส้มตำ ผัดกะเพรา ซึ่งเมนูเหล่านี้โดยปกติร้านอาหารSMEส่วนใหญ่ก็มักไม่ค่อยได้คำนวณต้นทุนกันอย่างละเอียดอยู่แล้ว เมื่อต้องใช้วัตถุดิบเยอะขึ้นต่อจานโอกาสคิดราคาผิดพลาดก็สูงมากขึ้น สุดท้ายอาจกลายเป็นเมนูที่ได้แต่กระแสแต่ไม่ได้กำไรแถมยังต้องเพิ่มงานให้กับพนักงานอีก
ดังนั้น ผู้ประกอบการควรกำหนดเมนูจานยักษ์ให้มีหน้าที่หลักคือดึงดูดลูกค้า สร้างกระแสบนสื่อให้คนสนใจร้านแต่ไม่ได้เป็นเมนูหลักในการขาย ราคาขายควรคำนวณต้นทุนให้ถี่ถ้วน และตั้งราคาให้มีกำไรเหมาะสม จะเกินไว้เผื่อขาดก็ไม่มีใครว่า และสำคัญอย่าลืมเชียร์ขายเมนูจานหลัก เมนูทานเล่น เมนูเครื่องดื่มที่ทำกำไรให้ร้านตัวจริงด้วย เมื่อมีคนถูกเมนูจานยักษ์ดึงดูดเข้ามาในร้าน
สำรวจหัวข้อเพิ่มเติม

Keep reading

รับแรงบันดาลใจจากเนื้อหาสำหรับร้านอาหาร

ดูบทความทั้งหมด
คุณสนใจหมวดหมู่ใด