พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส คงเป็นคำนึงที่ได้ดีเหมาะสมกับสถานการณ์ในตอนนี้ เพื่อเป็นกำลังใจทุกคนกลับมาขึ้นตั้งตัวได้อีกครั้ง กัปตันเดช-เดชพนต์ พูลพรรณ ผันตัวเองจากกัปตันของสายการบินแห่งชาติมาสร้างแบรนด์บราวนี่ และเป็นหนึ่งในผู้ที่เรียกได้ว่า พลิกวิกฤตวิกฤตโควิดนี้ให้เป็นโอกาสได้สำเร็จ กับ Flying Sweet แบรนด์บราวนี่ ที่กำลังเป็นกระแส มียอดสั่งยาวนับครึ่งเดือน และมียอดขายนับแสนบาทต่อเดือนน่าสนใจว่าการลุกขึ้นทำบราวนี่ของกัปตันนั้น ทำอย่างไรถึงทะยานยอดขายขึ้นสูงเรื่อยๆ เพื่อหวังจุดประกายผู้คนที่กำลังเผชิญวิกฤติ และกำลังคิดอยากจะสร้างอาชีพในเวลานี้
เริ่มต้นเส้นทางสู่บราวนี่เงินแสน ขนมชิ้นเล็กๆ ที่อยากจะส่งมอบความรู้สึกดีๆ และสร้างบรรยากาศดีๆ ในการทำงาน คือสิ่งที่กัปตันเดชมักจะทำเสมอเมื่อได้เวลาออกบิน ซึ่งนานวันเข้ากัปตันเดชอยากจะสร้างความพิเศษให้มากขึ้น เลยลงมือทำขนมด้วยฝีมือของตนเอง แม้จะไม่เคยทำขนมมาก่อน แต่ด้วยความตั้งใจจริง ในช่วงกลางปีที่แล้วเขาจึงลงทุนลงแรงเข้าคอร์สเรียนทำขนมเป็นกิจจะลักษณะ โดยทั้งหมดนั้นเขาย้ำว่าเริ่มต้นจากศูนย์ “ผมรู้สึกว่าอยากจะมอบอะไรจากสิ่งที่เราทำเองจริงๆ เลยคิดว่าทำขนมดีกว่า แต่ผมไม่มีพื้นฐานเลย ก็เสิร์ชในอินเทอร์เน็ตและสมัครเรียนทำขนม ไปวันที่ว่างจากตอนบิน ก็แปลกๆ นะครับเพราะว่าคนในคลาสเป็นผู้หญิงหมดเลย แต่เราตั้งใจไว้แล้ว ก็ได้เรียนทำบราวนี่เป็นเวลา 3 ชั่วโมง แล้วก็เรียนทำคุกกี้และ ขนมเปี๊ยะด้วย แต่สุดท้ายตัดสินใจทำบราวนี่” เหตุผลที่กัปตันเดชเลือกบราวนี่ หนึ่ง - เพราะเป็นขนมที่ชอบรับประทานอยู่แล้ว และ สอง - ตรงกับโจทย์คือพกสะดวก ซึ่งหลังจากนั้นก็เริ่มซื้ออุปกรณ์มาทำที่คอนโดฯ แบบโฮมเมด ค่อยๆ พัฒนาฝีมือไปเรื่อยๆ บวกกับศึกษาเพิ่มเติมจากอินเทอร์เน็ต พออยู่มือก็เริ่มที่จะปรับสูตรให้เป็นตัวของตัวเอง
แม้จะเป็นอาชีพเสริมแต่ต้องมีระบบ ทุกวันกัปตันเดชจะตื่นแต่เช้า จากนั้นเวลา 6-7 นาฬิกาก็เริ่มต้นทำขนม ซึ่งขนมทุกชิ้นทำเองทั้งหมด และดูแลด้วยตัวเองแต่เพียงผู้เดียวในขั้นตอนนี้ จนเวลา 08.30 นาฬิกา แมสเซนเจอร์ส่วนตัวจะมารับขนมไปจัดส่ง แต่ละวันก็ประมาณ 10-20 แห่ง ขณะเดียวกันภรรยาและลูกสาวของกัปตันเดช กับแม่บ้าน ก็จะช่วยกันบรรจุขนมลงกล่องแพ็กส่งไปรษณีย์ไปทั่วประเทศทั้งเหนือจรดใต้ พอช่วงบ่ายกัปตันเดชจะนั่งนัดหมายกับลูกค้า และวางแผนเรื่องเส้นทางเดลิเวอรี่ในวันต่อไป เพื่อให้เลือกเส้นทางที่คุ้มค่ากับการจัดส่ง ไม่ต้องการให้บราวนี่เดินทางนานจนเกินไป พอตกเย็นก็จะนำขนมที่ทำเอาไว้ออกจากตู้เย็นมาตัดและแพ็ก จากนั้นก็ลงมือทำบราวนี่ต่อจนถึงประมาณเที่ยงคืน “กว่าจะได้ระบบนี้ก็ลองผิดลองถูกอยู่นาน ช่วงแรกผมทำ 10 ถาดก็เยอะแล้วนะ เพราะว่าผมไปส่งเองด้วย ลูกค้ายังไม่เยอะ ผมไปได้ แต่พอตอนหลัง ผมไปส่งเองไม่ไหว เพราะว่าเอาเวลานั้นมา ผมได้ Productive เยอะกว่า เลยต้องจ้างหาแมสเซนเจอร์ส่วนตัว ถ้าเสาร์อาทิตย์ผมกลับบ้านที่รามอินทราก็ยังส่งเองอยู่บ้าง เพราะว่าผมจะได้เจอลูกค้า ได้สอบถาม ได้รับคำติชม ได้คอนแทกต์กับลูกค้าโดยตรง ถ้าอยู่ใกล้บ้านหรือวันไหนที่สะดวกผมก็ไปส่งเอง เราต้องไปเจอลูกค้าบ้าง”
อาชีพเสริมที่มียอดขายเดือนละแสนบาท บราวนี่ของ Flying Sweets รังสรรค์ขึ้นจากคอนเซ็ปต์ บราวนี่รสเข้มข้น หวานน้อย “รสเข้มคือผมใส่วัตถุดิบเข้มข้นมาก และใช้วัตถุดิบที่ดี ส่วนหวานน้อย คือช่วงนี้คนไม่ค่อยกินหวาน เป็นเทรนด์รักสุขภาพ คนทานขนมของผมมักจะถามว่ารสเข้มขนาดนี้ขาดทุนไหม ผมก็ไม่ได้กำไรเยอะ เพราะคิดว่าอยากให้คนทานรสชาติอร่อย” Flying Sweets มีบราวนี่ให้เลือกลิ้มรส 4 รสชาติ คือ Nutella Brownie Creamcheese Brownie รสชาติดั้งเดิมจากที่ได้ร่ำเรียนมาตั้งแต่แรก และพัฒนาต่อยอดรสชาติ Macadamia Brownie และ Matcha White Brownie ขึ้นมา นอกจากนั้นกำลังจะออกรสชาติใหม่ Espresso Brownie ขณะเดียวกันยังนำเสนอเป็นเซ็ตเมนูคือ ชุดบราวนี่หลายใจ ซึ่งกล่องหนึ่งมี 6 ชิ้น คละรสชาติ และเซ็ตรวมมิตร กล่องหนึ่งมี 9 ชิ้น คละรสชาติ เพื่อให้ลูกค้าสะดวกในการเลือกซื้อ สามารถลิ้มรสได้หลากหลาย และง่ายต่อการจดจำ “ทุกวันนี้ขนมผมก็ยังคงพัฒนาอยู่ทุกวัน เพราะว่าผมทำเอง ทำให้รู้ว่าขนมแต่ละหน้าจุดอ่อนเป็นอย่างไร ก็พยายามแก้ไขตลอด ขนมของผมจะดีขึ้นในทุกวัน เพราะว่าเรารู้ว่าอยากปรับปรุงอะไร” นั่นคือสิ่งที่กัปตันเดชอธิบายถึงความเป็นเอกลักษณะเฉพาะตัว และก็ได้สร้างความแตกต่างจนเป็นที่ติดอกติดใจ และสามารถสร้างยอดขายในช่วง COVID-19 เดือนละแสนกว่าบาท และมีออเดอร์สั่งล่วงหน้ายาวไปกว่าครึ่งเดือนแล้วซึ่งตอนทีมงาน MHA ได้ลองสั่งก็ต้องรอนานกว่า 1 สัปดาห์
Ghost Kitchen และ การตลาดออนไลน์ 100 %Flying Sweets ถือเป็นแบรนด์ที่เรียกว่า Ghost Kitchen คือไม่มีหน้าร้าน และขายทางช่องทางออนไลน์และเดลิเวอรี่เพียงอย่างเดียว “ตอนนั้น (ช่วงมีนาคมที่เริ่มขายจริงจัง) ทุกคนต้องกักตัวอยู่บ้านกัน ก็มีแต่ช่องทางออนไลน์อย่างเดียว แรกสุดก็คือ Line Official Account ประมาณ 60-70% เพราะว่าผมใช้งาน Line อยู่แล้วก็ผูกกันได้โดยตรง สามารถตอบลูกค้าได้โดยตรง แต่ถ้าเป็น Line ส่วนตัวก็ดูเหมือนจะไม่ค่อยจะขายจริงจังสักเท่าไร ต้องมีแบรนด์ที่เป็นตัวตน เวลาตอบลูกค้าอยากใช้ Line ของร้านตอบ แล้วยังมีฟังก์ชั่นต่างๆ เพื่อคนขายอาหารอีก จะโพสต์ จะบรอดแคส ก็ค่อนข้างสะดวก” นอกจากนั้น จุดเปลี่ยนสำคัญของการโปรโมทร้านทางออนไลน์คือช่วงที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ตั้งกลุ่มมาร์เก็ตเพลสของสถานบันใน Facebook ซึ่ง กัปตันเดชก็ได้นำเรื่องราวของเขาและ Flying Sweets ไปแนะนำ จนได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง ทำให้คนรู้จักแบรนด์เยอะขึ้น มีคนที่โทรศัพท์สั่งบราวนี่ชนิดรับสายแทบไม่ทัน รวมทั้งคนที่เคยทานก็เข้ามาคอมเมนต์ให้กำลังใจ
Content Marketing และการบริหาร ทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำ กัปตันเดชอธิบายว่า “ส่วนใหญ่ผมดูแลลูกค้าด้วยตัวเองโดยตรง ซึ่งมันก็มีบ้างที่มีปัญหาเรื่องการส่ง EMS ไปถึงช้า ลูกค้าก็กังวลว่าขนมจะเสียไหม ผมก็ดูแลเองหมด เขาก็ประทับใจ บางคนส่งแล้วมีความผิดพลาด ผมก็ส่งไปให้ใหม่ เขาก็เอาความประทับใจไปลงในโซเชียลของเขา ทำให้คนรู้จักผมมากขึ้นอีก ช่วงแรกคนเข้ามาทานคนก็อยากลองขนมกัปตันเป็นอย่างไร แต่ว่าช่วงหลังก็มีคนที่เคยกินแล้วติดใจกลับมาซ้ำอีก ประมาณ 30%” นอกจากนั้น ทุกวันนี้ก่อนเข้านอน กัปตันเดชก็จะเขียนสตอรี่โพสต์ใน Line และ Facebook โดยพยายามโพสต์ข้อความน่ารักๆ หรือเกี่ยวกับบราวนี่ในมุมอื่นๆ บ้าง ไม่ได้อยากจะขายเพียงอย่างเดียว เพื่อให้ลูกค้ากับแบรนด์ใกล้ชิดกันมากขึ้น มีมิตรภาพที่ดีต่อกัน และเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน เลยเป็นจุดเชื่อมกันระหว่างกัปตันเดชกับลูกค้าอีกด้วย
ก้าวต่อไปของ Flying Sweetหากอุตสาหกรรมการบินกลับมาทำการบินได้ กัปตันเดชก็ต้องกลับไปประจำการบนนกเหล็กตามปกติ แต่แน่นอนว่าเขาก็มีแผนขั้นต่อไปสำหรับ Flying Sweet แล้วเช่น “ผมมองว่าช่วงแรกคงไม่ได้บินเยอะ วันที่ไปบินก็ต้องทำเผื่อไว้ ซึ่งหากไม่อยู่ เต็มที่ก็คงเพียง 2 วัน เพราะตอนนี้คงจะไม่ได้ไปนาน ส่วนที่บ้านคือช่วยกันทุกคน สถานการณ์กลับมาปกติลูกสาวก็ต้องไปเรียน ซึ่งทุกวันนี้ก็ช่วยผมเยอะมาก ผมทำคนเดียวไม่มีทางได้ออร์เดอร์เยอะขนาดนี้ เพราะมีคนซัพพอร์ตมีทีมงานที่ดี คือช่วยกันทุกคน ส่วนขั้นต่อไปคงต้องหาคนมาช่วยเพิ่ม ผมกำลังมองหาที่ทางสำหรับขยับขยาย ฝันว่าอยากจะมีร้าน เพื่อให้ได้เจอได้สัมผัสโดยตรงกับลูกค้า” กัปตันส่งกำลังใจให้กับทุกคน
จากคนที่ไม่เคยมีแบรนด์เป็นของตัวเอง เริ่มต้นจากศูนย์จนทำแบรนด์ขนมหวานที่มียอดขายหลักแสน สิ่งสำคัญที่ทำให้มาถึงจุดนี้ได้นั้น กัปตันเดชบอกว่า การวางแผนเป็นสิ่งสำคัญ “ตอนแรกผมทำได้ไม่ได้เยอะ แต่ก็มาวางแผนใหม่ให้ดีขึ้น แล้วศึกษาหาข้อมูล ดูว่าเราตั้งใจจะขายใคร จุดอ่อนของขนมคืออะไร ก็พยายามพัฒนาตลอด อีกอย่างคือเรื่องความจริงใจกับลูกค้า ผมตั้งใจว่าจะทำขนมให้อร่อยที่สุดและไม่เอาเปรียบ ดังนั้นเมื่อเราเอาความจริงใจใส่ลงไป ขนมออกมาดีแน่นอน แล้วลูกค้าก็จะรับรู้ว่าเราจริงใจขนาดไหน จากขนมที่เราทำให้เขาทาน” ขณะที่วิกฤติ COVID-19 กำลังคลี่คลายไปในทางที่ดี ซึ่งหลังจากนี้หลายคนที่ได้รับผลกระทบก็ต้องเริ่มฟื้นฟูตัวเองอีกครั้ง กัปตันเดชก็ได้มอบกำลังใจฝากถึงผู้ประกอบการ และผู้ที่กำลังมองหาหนทางในการเริ่มต้นสร้างอะไรสักอย่างให้ตัวเอง “ทุกอาชีพได้รับผลกระทบกันทั้งหมด ผมก็โดนหนักเพราะว่าไม่ได้บิน รายได้ก็หายไปเยอะ มันก็เป็นความทุกข์ แต่ว่าโรคระบาดมา วันหนึ่งมันก็ต้องไป แต่เรายังอยู่ อยากจะให้กำลังใจว่าเดี๋ยวมันก็ผ่านไป ส่วนใครที่คิดอยากจะทำอะไร บางทีมันคิดไม่ออกว่าจะทำอะไรดี เราต้องลองออกไปทำเลยถึงจะรู้ว่าชอบอะไร วันหนึ่งเราก็อาจจะเจอสิ่งที่เราทำได้และชอบ อาจจะเป็นรายได้เสริมก็ได้ อย่างตอนแรกผมก็ไม่ทราบหรอกว่าชอบทำขนม แต่ผมออกไปลองทำดู ถ้าผมไม่สมัครเรียนคอร์สทำขนมวันนั้นก็อาจจะไม่มีวันนี้ก็ได้” “ทุกคนสามารถเริ่มสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำได้แน่นอน ขอให้เราตั้งใจและลองทำ ผมก็ลองผิดลองถูก แต่นั่นก็ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เราต้องมี Growth Mindset ว่าเราสามารถพัฒนาตัวเองได้ ไม่ว่าเจอกับปัญหาอะไร ขอให้เราหาหนทางแก้ปัญหา เดี๋ยวมันก็ผ่านไป ผมทำธุรกิจนี้ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างที่ไม่เคยทำ ได้ลองทำ Line OA และเพจ Facebook แม้กระทั่งส่งไปรษณีย์ รวมไปถึงหาซื้อวัตถุดิบ พบเจอลูกค้า ซึ่งไม่เคยเลย พึ่งเคยได้เริ่มต้น ได้รู้จักคนหลากหลาย ซึ่งถือว่าเป็นกำไรชีวิตทั้งนั้น”