ภาษีเปิดร้านอาหาร ฉบับมือใหม่! จัดการเรื่องการเงินและการบัญชีให้เป๊ะ สรุปสั้นๆ ฉบับเข้าใจง่าย

31 ม.ค. 2565
หลายคนที่เป็นมือใหม่เปิดร้านอาหาร อาจจะคิดถึงเรื่องระบบการทำงานร้าน การทำสูตรให้อร่อยเป๊ะ ขอให้ขายได้ขายดี ลูกค้าซื้อซ้ำก่อนเป็นพอ ให้ความสำคัญของ “เรื่องภาษี” เป็นเรื่องท้ายๆ ที่หลายคนคิดถึง 

วันนี้ MHA สรุปภาษีฉบับมือใหม่เปิดร้านอาหาร ภาษีเหล่านี้คืออะไร ต้องเก็บเอกสารอะไรเป็นหลักฐานบ้าง ต้องเตรียมเงินเท่าไหร่บ้าง ต้องทำบัญชีอย่างไรบ้าง ต้องจดทะเบียนอะไรบ้าง ให้ผู้ประกอบการมือใหม่ไฟแรง เตรียมตัวเรื่องภาษีตั้งแต่ต้นปี จัดการเรื่องการเงินและการบัญชีให้เป๊ะ!

1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 

ภาษีที่จัดเก็บกับบุคคลทั่วไปที่มีรายได้เป็นรายปี ดูจากรายได้ที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี ผู้มีรายได้มีหน้าที่ต้องแสดงรายการตามแบบแสดงรายการภาษีที่กำหนด ตามกฎหมายแล้วรายได้ที่มาจากการเปิดร้านอาหารถือเป็น เงินได้ประเภทที่ 8 ซึ่งทำให้ต้องยื่นภาษีทุกครึ่งปี โดยที่
- ครั้งที่1 ยื่นแบบภ.ง.ด.94 ภายในเดือนกรกฎาคม-กันยายน โดยคำนวนจากยอดเงินได้ในเดือนมกราคม - มิถุนายน 
- ครั้งที่ 2 ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป โดยคำนวนจากยอดเงินได้ตลอดเดือนมกราคม-ธันวาคม โดยนำภาษีที่จ่ายในครั้งที่ 1 มาหักออกจากภาษีที่คำนวณจ่ายครั้งที่ 2 
ถ้าเราเปิดร้านอาหารโดยที่ไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคล เราต้องเอารายได้จากการขายมาคำนวนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทุกปี
ในการยื่นภาษีประเภทนี้ ต้องเตรียมหลักฐานที่มารายได้ หลักฐานค่าใช้จ่าย ได้แก่ ใบเสร็จรับเงินต่างๆ สำหรับยื่นเป็นหลักฐานในการหักลดหย่อนภาษีตามจริงด้วย หรือจะเลือกใช้การหักลดหย่อนด้วยอัตราเหมาจ่าย ไม่เกิน 60% ก็ได้ ถ้าไม่อยากยุ่งยากในการเก็บ-การยื่นเอกสารจำนวนมาก
ศึกษาเพิ่มเติมเรื่องอัตราภาษีและการลดหย่อนได้ที่ => https://bit.ly/3nYxiBj

2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล

ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีนี้คือ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ และรวมถึงนิติบุคคลอื่นที่ไม่ได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แปลว่า ถ้าเราเปิดร้านอาหารโดยการจดทะเบียนเป็นบริษัท เป็นห้างหุ้นส่วน ห้างร่วมค้า หรือเป็นคณะบุคคล ต้องเสียภาษีตัวนี้ ต่างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตรงที่ ภาษีเงินได้นิติบุคคลจะใช้รอบระยะเวลาบัญชีในการคำนวนและกำหนดเวลาในการยื่นภาษีซึ่งจะเริ่มต้นเมื่อต้นและสิ้นสุดลงเมื่อใดก็ได้ โดยยอดภาษีจะคำนวณจาก กำไรสุทธิคูณด้วยอัตราภาษีที่กำหนด
ร้านอาหารที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจะต้องยื่นแบบชำระภาษีปีละ 2 ครั้งเช่นกัน คือ 
- ครั้งแรก ภ.ง.ด.51 เรียกว่าภาษีเงินได้ครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ยื่นภายใน 2 เดือนเมื่อครบ 6 เดือนของรอบระยะเวลาบัญชี
- ครั้งที่สอง ภ.ง.ด.50 เรียกว่าภาษีเงินได้สิ้นรอบระยะเวลาบัญชี ยื่นภายใน 150 วันนับตั้งแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี
ในการยื่นภาษีประเภทนี้ ต้องเตรียมหลักฐานค่าใช้จ่ายของบริษัท ใบภาษีหัก ณ ที่จ่าย ฯลฯ เพื่อนำมาหักลดหย่อน 
ศึกษาเพิ่มเติมเรื่องอัตราภาษีและการลดหย่อนได้ที่ => https://bit.ly/35d3n1M

3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT 

เป็นการเก็บภาษีจากการขายสินค้า หรือการให้บริการในแต่ละขั้นตอนการผลิต และจำหน่ายสินค้าหรือบริการ ทั้งที่ผลิตภายในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ โดยปกติและ จะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% โดยจะบวกเพิ่มลงไปในราคาสินค้าเลย นั่นคือถ้าเราจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เราจะต้องขึ้นราคาอาหารให้ครอบคลุมภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย เพราะต้องไม่ลืมว่า เวลาที่เราซื้อวัตถุดิบ เราก็เสียภาษีมูลค่าเพิ่มให้ซัพพรายเออร์เช่นกัน
shutterstock_1943040376 (1).jpg 16.56 MB
ร้านอาหารที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่
- เป็นผู้ประกอบกิจการที่มีรายได้เกินกว่า 1,800,000 บาท (ก่อนหักค่าใช้จ่าย) โดยต้องยื่นจดทะเบียนภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่มีรายได้เกิน
- เป็นผู้ประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ ต้องมีการซื้อสินค้า หรือรับบริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น การติดตั้งเครื่องจักร ก่อสร้างอาคารสำนักงาน และการก่อสร้างโรงงาน โดยสามารถยื่นคำขอจดทะเบียนภายในกำหนด 6 เดือนก่อนวันเริ่มประกอบกิจการ หรือ
- เป็นผู้ประกอบกิจการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ
 
ผู้ประกอบการต้องขอใบเสร็จจากซัพพรายเออร์เก็บไว้และทำรายงานภาษีซื้อ รวมถึงต้องออกใบกำกับภาษีให้ลูกค้าและทำรายงานภาษีขาย เพื่อนำมาใช้คำนวณภาษีในแต่ละเดือน เพราะต้องยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นรายเดือน โดยยื่นแบบ ภ.พ. 30 ทุกเดือน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ไม่ว่าจะมียอดขายหรือไม่
ศึกษารายละเอีดยเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มได้ที่ => https://bit.ly/2MWAjTw 
 

4. ภาษีหัก ณ ที่จ่าย

เป็นการจัดเก็บภาษีล่วงหน้ากำหนดให้ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่หักภาษีจากเงินที่จ่ายให้แก่ผู้รับทุกครั้งที่จ่าย ซึ่งการหักภาษีต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนด หลังจากนั้นให้นำเงินส่งกรมสรรพากร
shutterstock_538323685.jpg 265.82 KB
เงินที่ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ได้แก่ ค่าเช่า ค่าจ้าง ค่าจ้างทำของ รางวัลจากการชิงโชค ค่าโฆษณา ค่าขนส่ง ค่าบริการ เงินปันผล ในกรณีที่ร้านเรามีลูกจ้าง ต้องทำการหักภาษี ณ ที่จ่าย ถ้าลูกจ้างมีรายได้เกิน 26,000 บาทต่อเดือน เพื่อนำส่งกรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป
ศึกษาเรื่องภาษีหัก ณ ที่จ่าย ได้ที่ => https://bit.ly/3fUp3lB 

5. ภาษีป้าย

เป็นภาษีที่จัดเก็บจากป้ายที่แสดงชื่อ ยี่ห้อ หรือเครื่องหมายที่ใช้ในการประกอบการค้า หรือประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้ หรือ โฆษณาการค้า ตามที่เราเห็นอยู่ตามตึกสูงๆ ท้องถนนรวมถึงป้ายดิจิทัลที่สามารถเคลื่อนไหวได้
shutterstock_1770865601.jpg 238.16 KB
- ลักษณะของป้ายที่ต้องเสียภาษี ได้แก่  ป้ายชื่อ ยี่ห้อ โลโก้ที่ประกอบด้วยอักษร ภาพ ไม่ว่าจะมีขนาดเท่าใดก็ตาม
- ลักษณะของป้ายที่ไม่ต้องเสียภาษี ได้แก่ ป้ายที่ติดในอาคาร ป้ายที่มีล้อเลื่อน (ต้องมีการเลื่อนป้ายเข้าออก) ป้ายตามงานอีเวนท์ที่จัดเป็นครั้งคราว ป้ายของทางราชการ ป้ายของโรงเรียนทั้งรัฐและเอกชน ป้ายวัด สมาคม มูลนิธิ ป้ายที่ติดหรือแสดงไว้ที่รถยนต์ส่วนบุคคลรถจักรยานยนต์ รถบดถนนหรือรถแทรกเตอร์ ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่ยานพาหนะ โดยมีพื้นที่ไม่เกิน 500 ตร.ซม

อัตราภาษีป้าย

- ป้ายที่มีอักษรไทยล้วนมีข้อความที่เคลื่อนที่หรือเปลี่ยนเป็นข้อความอื่นได้ อัตราภาษีป้าย 10 บาท ต่อขนาดป้าย 500 ตร.ซม. ถ้าเป็นป้ายนอกเหนือจากนี้ให้คิดอัตราภาษีป้าย 5 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
- ป้ายที่มีข้อความเป็นอักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศ และ/หรือปนกับภาพ และ/หรือเครื่องหมายอื่น  ป้ายที่มีข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพที่เคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนเป็นข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพอื่นได้ ให้อัตราภาษีป้าย 52 บาท ต่อ 500 ตร.ซม. นอกเหนือจากนี้ให้คิดอัตราภาษีป้าย 26 บาท ต่อ 500 ตร.ซม
-ป้ายที่ไม่มีอักษรไทยไม่ว่าจะมีภาพหรือเครื่องหมายใดๆ หรือไม่ และป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วน หรือทั้งหมดอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ ป้ายที่มีข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพที่เคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนเป็นข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพอื่นได้ อัตราภาษีป้าย 52 บาท ต่อ 500 ตร.ซม. นอกเหนือจากนี้ให้คิดอัตราภาษีป้าย 26 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
shutterstock_1553540318 (2).jpg 294.5 KB
ถ้ามีการติดตั้งป้ายใหม่หรือเปลี่ยนแปลงข้อความต้องยื่นแบบ ภ.ป. 1 ภายใน 15 วัน และยื่นเสียภาษีป้ายประจำปี ภายในเดือนมีนาคม ที่สำนักงานเขต เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ที่ป้ายนั้นติดตั้งอยู่
ศึกษาเรื่องภาษีป้ายเพิ่มเติมได้ที่ => https://bit.ly/3H1Kq0h 

6. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 

เป็นภาษีที่จัดเก็บโดยท้องถิ่น โดยแบ่งประเภทที่ดินออกเป็นกลุ่ม ซึ่งร้านอาหารถือว่าเป็นที่ดินในกลุ่มพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม คือ การทำประโยชน์ด้านพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม อาคารสำนักงาน โรงแรม ร้านอาหาร และอื่น ๆ มีเพดานภาษีสูงสุดอยู่ที่ 1.2%  แต่ปัจจุบันให้คงอัตราภาษีไว้อยู่ที่ 0.3-0.7% โดยมีรายละเอียดดังนี้
- ที่ดินมูลค่า 0 – 50 ล้านบาท อัตรา 0.3% หรือล้านละ 3,000 บาท
- ที่ดินมูลค่า 50 – 200 ล้านบาท อัตรา 0.4% หรือล้านละ 4,000 บาท
- ที่ดินมูลค่า 200 – 1,000 ล้านบาท อัตรา 0.5% หรือล้านละ 5,000 บาท
- ที่ดินมูลค่า 1,000 – 5,000 ล้านบาท อัตรา 0.6% หรือล้านละ 6,000 บาท
- ที่ดินมูลค่า 5,000 ล้านบาทขึ้นไป อัตรา 0.7% หรือล้านละ 7,000 บาท
ถ้าเราเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ร้านอาหารตั้งอยู่เราต้องเสียภาษีตัวนี้ด้วย ซึ่งตามปกติจะมีจดหมายแจ้งประเมินราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พร้อมแจ้งให้เราไปจ่ายกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามที่ตั้งของที่ดินนั้น
ศึกษาเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ที่ => https://bit.ly/3ICRtN4 

7. ภาษีศุลกากร 

ถ้าร้านของเรามีการสั่งนำเข้า วัสดุ อุปกรณ์ วัตถุดิบ เครื่องจักร ที่อยู่ในรายการบัญชีภาษีนำเข้า เราต้องจ่ายภาษีศุลกากรด้วย ซึ่งอัตราภาษีของสินค้านำเข้าแต่ละประเภทไม่เท่ากัน ดังนั้นต้องศึกษาเรื่องพิธีการทางศุลกากรและพิกัดภาษีให้เข้าใจก่อนจะนำเข้าวัสดุอุปกรณ์ของร้านจากต่างประเทศ 
ศึกษาเรื่องภาษีและพิกัดศุกลกากรได้ที่ => https://bit.ly/3u75xdE
shutterstock_1309835797 (1).jpg 83.9 KB
สำรวจหัวข้อเพิ่มเติม
ภาษีภาษีร้านอาหารTAXการเงินบัญชีร้านอาหาร

Keep reading

รับแรงบันดาลใจจากเนื้อหาสำหรับร้านอาหาร

ดูบทความทั้งหมด
คุณสนใจหมวดหมู่ใด