ขายดี! แบบไม่มีอะไรมากั้น E.HOI หอยแครงลวก จากครัวคอนโดสู่ยอดขายหลักแสน

29 มิ.ย. 2563
เทรนด์หนึ่งที่กำลังเป็นสนใจของคนที่อยากจะมีธุรกิจอาหารเป็นของตัวเองคือ ทำอาหารอยู่ที่บ้านโดยไม่ต้องมีหน้าร้าน แล้วขายผ่านช่องทางออนไลน์หรือแฟลตฟอร์มต่างๆ โดยบริการแบบเดลิเวอรี่เสิร์ฟความอร่อยถึงบ้านลูกค้า E.HOI ร้านหอยแครงลวกจิ้มสุดแซ่บถือเป็นตัวอย่างที่เห็นภาพชัดเจน ซึ่งคุณไอซ์-วรัญญา มุสิกไชย ริเริ่มจากครัวภายในคอนโด ขายเพียงเมนูเดียว แต่สามารถสร้างรายได้หลักแสนบาท และปัจจุบันต่อยอดเปิดหน้าร้าน โดยที่ขายทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ต่อยอดฐานลูกค้าและยอดขายที่เพิ่ม น่าสนใจเหลือเกินว่าเธอมีวิธีคิดและลงมือสร้างแบรนด์นี้อย่างไร 
เริ่มต้นจากกรอบสี่เหลี่ยม หากจะกล่าวว่า E.HOI เกิดจากกรอบสี่เหลี่ยมคงไม่ผิดนัก ด้วยความที่คุณไอซ์อาศัยอยู่ในห้องบนคอนโดมิเนียมกลางกรุงเทพฯ​ ซึ่งมีไลฟ์สไตล์ในการสั่งอาหารจากแอปพลิเคชั่นและเดลิเวอรี่ทุกวัน  ไม่ว่าเจ้าเด็ดร้านดังจะอยู่ไกลแค่ไหน หรือไม่รู้ด้วยซ้ำว่าหน้าร้านตั้งอยู่ตรงใด ขอให้อร่อยเธอยอมสั่งเพียงแค่กดสมาร์ทโฟน สิ่งนี้ได้จุดประกายไอเดียบางอย่างให้กับเธอ “เรามีพื้นฐานมาจากครอบครัวที่ทำค้าขาย โตมากับร้านขายของชำ รู้อยู่แล้วว่าการค้าขายมันต้องลงทุน ต้องทำอะไรบ้าง และไอซ์เองเป็นคนชอบทำกับข้าว ชอบเข้าครัวอยู่แล้วด้วย วันหนึ่งก็นั่งดูรายการทีวีที่พูดถึงหอยแครง 
ไอซ์เห็นรูปแล้วคิดว่าโปรดักส์น่าจะทำให้มีมูลค่าขึ้นมาได้ สามารถถ่ายรูปออกมาแล้วดึงดูดลูกค้าได้ มันดูน่ากิน ทั้งที่กินหอยไม่เป็น แต่คนรอบข้างทั้งเพื่อน ทั้งครอบครัวกินกัน ก็คิดว่าคนทั่วไปน่าจะกินสัก 80% เลยคิดว่าไม่จำเป็นต้องทำอะไรที่ตัวเองกินเลยก็ได้ ก็ลองทำให้คนอื่นกินดู” ปรากฏว่าใครที่ได้กินหอยแครงจากฝีมือของเธอแล้วเป็นต้องติดใจ 
สร้างแบรนด์ที่โฟกัสเพียงโปรดักส์เดียวให้ดีที่สุด เธอเป็นอีกคนที่ฝันอยากจะมีธุรกิจเป็นของตัวเอง แม้จะไม่คาดฝันมาก่อนว่าตัวเองจะมาจับธุรกิจหอยแครง เพราะเป็นคนไม่กินปลา ไม่กินหอยเลย ทว่าเมื่อไอเดียเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง แน่วแน่ตั้งใจแล้วที่จะเอาจริง การเกิดขึ้น E.HOI จึงเริ่มต้นภายในห้องสี่เหลี่ยนบนคอนโดฯ “E.HOI ตั้งขึ้นมาจากความตั้งใจที่จะทำโปรดักส์เดียวนี้ให้ดีไปเลย ตั้งเป้าเอาไว้ว่าจุดเด่นของสินค้าคือ ขายหอยแครงที่ดีที่สุด คิดถึงหอยดี หอยอร่อย คุณภาพไม่ผิดหวัง และน้ำจิ้มรสเด็ด ต้อง E.HOI” แม้ว่าจะไม่กินหอยแครง แต่สำหรับเธอ สิ่งนั้นไม่ได้เป็นข้อจำกัด ตรงกันข้ามกลายเป็นเรื่องที่ทำให้ยิ่งต้องศึกษาเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง เพื่อกลบจุดด้อยของตัวเอง โดยเริ่มตั้งแต่ตามหาหอยแครง “พอตัดสินใจลงมือแล้ว ไอซ์ก็ศึกษาแบบสุดๆ ตอนที่เริ่มทำมีอุปสรรคเข้ามาเยอะมาก ต้องเรียนรู้ ต้องลองผิดลองถูก ลงทุน 3,000 บาทเปิดร้านได้เลย อันนั้นใช่ แต่แค่ฉาบฉวย ถ้าไม่ศึกษาต่อเติมก็คงไม่ได้ ปัจจัยแรก - เรื่องวัตถุดิบ อยากได้วัตถุดิบที่ราคาถูก เพื่อจะได้กำไรเยอะที่สุด ปรากฏว่าหอยแครงมีหลายสายพันธุ์ อย่างหอยแครงอินเดีย หรือหอยแครงมาเลฯ ก็ทดลองสั่งมา สรุปว่า ราคาต้นทุนต่างกันจริง แต่คุณภาพก็ต่างกันด้วย สอง - เรื่องพ่อค้าคนกลาง คือเราไม่เคยเจอเขาๆ ก็เอาของไม่ดีส่งมาให้ เราก็ไม่มีสิทธิ์ไปเรียกร้องอะไร เพราะไม่รู้ว่าเขาอยู่ที่ไหน ไม่สามารถไปตามได้ ไอซ์ก็ลองสั่งไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็โชคดีเจอคนขายที่ตรงไปตรงมา ด้วยความที่เห็นเราเป็นมือใหม่ แล้วมีอะไรก็คุยก็เล่าให้เขาฟังว่า เจอปัญหาแบบนี้ ไอซ์ไม่ค่อยมีพื้นฐาน ถ้าอย่างไรช่วยแนะนำหน่อย คือถามข้อมูลตรงๆ ซึ่งก็ได้รับคำแนะนำทุกอย่าง ไม่ตุกติก มีปัญหาก็เคลมได้” 
ในส่วนของรสชาติของหอยแครง ก็อาศัยคนรอบข้างช่วยตัดสิน เพื่อให้ได้รับคำติชม แล้วนำมาปรับปรุงแก้ไข จนไร้เสียงติ “ช่วงแรกยังไม่ได้ขายผ่านแอปพลิเคชั่นสั่งอาหาร โดยขายผ่านทาง Facebook และ Line เป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเพื่อนๆ เป็นคนอุดหนุน เขาก็ติชมกลับมาโดยที่ไม่มีความเกรงใจ ด่าตรงๆ ไม่ดีเราก็จะได้เอาไปแก้ไข คือเป็นการซื้อวิชา จนคิดว่ารสชาติทุกอย่างดีแล้วจึงลงขายผ่านแอปพลิเคชั่น ซึ่งก็จะฟังฟีดแบ็กจากลูกค้าด้วย จะบอกไปว่าของที่ส่งไปล็อตนี้เป็นของบ่อนี้นะ เล่าให้ฟังหน่อยสิว่าต่างกันหรือไม่ อันไหนดีกว่ากัน เขาก็จะอธิบายให้ฟัง” ด้วยความตั้งใจในการศึกษาเรียนรู้และประสบการณ์จากการลองผิดลองถูก ทุกวันนี้เธอสามารถมีความชำนาญในการเลือกหอยแครง สามารถรู้ได้เลยว่าหอยแครงตัวไหนอร่อยหรือไม่ โดยใช้วิธีดูด้วยสายตาและดมกลิ่น ซึ่งแต่ละที่ก็จะมีเปลือกหอยแครงต่างกัน กลิ่นที่ต่างกัน ตอนนี้ที่ E.HOI ขายอยู่คือหอยแครงบ่อหรือหอยแครงเลี้ยง ซึ่งมีลักษณะเนื้อเต็มฝา เปลือกบาง ไม่มีกลิ่น การแกะก็จะง่าย ราคาค่อนข้างสูง “มันอยู่ด้วยทุกวัน แทบจะเป็นเพื่อนกัน คนตาบอดเขายังต้องเรียนรู้ในการใช้ชีวิตประจำวันเลย ไอซ์ก็เหมือนกัน ถึงจะไม่กิน ต้องเอาอย่างอื่นมาทดแทนในสิ่งที่ทำไม่ได้” 
ร้านขายหอยแครงออนไลน์ที่ใช้เทคโนโลยีอย่างลงตัว E.HOI คือร้านหอยแครงลวกที่เริ่มต้นทำภายในคอนโดฯ และขายผ่านแฟลตฟอร์มเดลิเวอรี่ทางออนไลน์ นอกจากนั้นวัตถุดิบต่างๆ เธอก็สั่งผ่านทางออนไลน์ทั้งหมด ซึ่งด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคปัจจุบันช่วยอำนวยความสะดวกเป็นอย่างมาก หากเลือกหยิบมาใช้ให้เป็นก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการเป็นผู้ประกอบการ แม้ไม่ต้องออกจากบ้านเลยก็ตาม “เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีการสื่อสารมีความสำคัญและยังช่วยทุ่นแรงได้มาก ถ้าให้ไอซ์ไปหาซื้อหอยแครงเอง ก็ไม่สามารถแบกกลับมาวันละ 20-30 กิโลกรัมได้ ไหนจะต้องไปซื้อของอื่นๆ อีก ทำคนเดียวไม่ได้แน่นอน ดังนั้นไอซ์ก็เลือกที่จะสั่งหอยแครงทาง Line สั่งแพกเกจจิงก็สั่งทางแอปพลิเคชั่นต่างๆ คือเหมือนมีคนจ่ายตลาดให้ ตื่นเช้าขึ้นมาไอซ์ก็เข็นขึ้นห้องไปเพื่อนำไปขายของได้เลย เพราะเรารู้จักใช้เทคโนโลยีกับธุรกิจของเรามากกว่า แต่อาจจะมีค่าใช้จ่ายส่วนที่เป็นค่าขนส่ง และค่าลองผิดลองถูก อย่างค่าขนส่งหอยแครงจากบ่อก็ 500 บาทแล้ว” 
ร้านขายอาหารออนไลน์คุณภาพต้องดี และรูปต้องตรงปกร้านอาหารที่ไม่มีหน้าร้าน เน้นขายผ่านทางออนไลน์หรือแอปพลิเคชั่น โดยให้บริหารจัดส่ง หรือที่เรียกว่า Ghost Kitchen ถือเป็นเทรนด์ใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจากความพร้อมด้วยแพลตฟอร์มต่างๆ ที่รองรับการจัดส่งอาหาร รวมถึงการลดต้นทุนในการบริหารจัดการหน้าร้าน ซึ่ง E.HOI ก็มีจุดกำเนิดเช่นนั้น สิ่งที่น่าคิดคือแล้วในฐานะร้านน้องใหม่จะสร้างความเชื่อถือให้กับลูกค้าได้อย่างไร คุณไอซ์อธิบายประเด็นดังกล่าวอย่างน่าคิดเอาไว้ว่า การสร้างแบรนด์ของตัวเองและภาพลักษณ์นั้นถือเป็นสิ่งสำคัญ​ ซึ่งรูปอาหารต้องตรงปก “เราต้องไม่โกหกลูกค้า คือรับของไปแล้วต้องตรงปก ถ้าสินค้าที่รับไม่ตรง ลูกค้าสั่งครั้งแรกครั้งเดียวแน่นอน ทุกวันนี้ก็มีคนที่เอารูปอาหารของ E.HOI ไปเปิดร้านเป็นของตัวเอง ลูกค้าของเราแคปรูปส่งมาให้ดูว่ามีคนก็อปรูป ก็อปชื่อร้านของคุณไอซ์ไปใช้ เขาลองสั่งดูแล้ว ไม่เหมือนที่เราทำเลย” “ที่ไอซ์เล่ามานั้นมันอาจจะดูเรียบง่าย แต่อยากจะบอกว่าทุกอย่างมีรายละเอียด ตั้งแต่หอยแครง ไอซ์ลองผิดลองมาจนรู้ว่าอันนี้ดีที่สุดแล้ว ถึงราคาสูงแต่ยอม เสียเงินแล้วก็อยากได้ของที่อร่อย ถึงจ่ายเพิ่มอีกนิด แต่ได้กินของที่ดีกว่า มันก็คุ้มกว่าที่กินแล้วไม่อร่อย ดีกว่าเสียความรู้สึกกับของที่สั่งมาแล้วมันไม่ดี หมายถึงตัวเราด้วย สั่งของมาถูก แต่คุณภาพไม่ดี เราขายไม่ได้จริงๆ” สิ่งที่กล่าวมาสะท้อนผ่านหอยแครงไซส์ยักษ์ ซึ่ง E.HOI สั่งคัดพิเศษเป็นขนาด 30-35 ตัวต่อกิโลกรัม และ 35-40 ตัวต่อกิโลกรัม ซึ่งถือว่าเป็นไซส์ที่ใหญ่ ในท้องตลาด จะขนาด 90 ตัวต่อกิโลกรัม อีกทั้งยังต้องนำมาล้างให้สะอาดที่สุดแบบวันต่อวัน  หอยแครงลวกเสร็จแกะแล้วเช็กไม่ว่าจะดินและกลิ่นก่อนจะส่งลูกค้า  วัตถุดิบอย่างพริก กระเทียม มะนาว สำหรับทำน้ำจิ้มก็จะสั่งมาเพื่อขายวันต่อวัน 
การปรับตัวตามโควิด-19ช่วงที่เกิดวิกฤติโควิด-19 E.HOI มีการปรับตัวตามเช่นเดียวกับหลายๆ ร้าน โดยเป็นการเปลี่ยนตัวเองที่อาจมองได้ว่าเป็นในทิศทางที่ดีก็ว่าได้ เนื่องจากบริเวณคอนโดฯ ที่คุณไอซ์พักอยู่ในพื้นที่พบผู้ติดเชื้อ เธอจึงตัดสินใจกลับไปตั้งหลักที่บ้าน ก่อนที่จะตัดสินใจเปิดหน้าร้านอย่างเป็นทางการที่ตลาดสาย 2 “คุยกับที่บ้านว่าอยากทำธุรกิจต่อ แต่ทำเลตรงนี้ไม่ได้เหมือนที่อยู่คอนโดฯ คือทุกคนจะเดินตลาด ไปจับจ่ายใช้สอยซื้ออาหรมากิน ถ้าขายออนไลน์เหมือนที่คอนโดฯ เรียบร้อยแน่ เราก็ต้องดูว่าทำเลที่อยู่สามารถทำอะไรได้ ก็เลยออกไปมีหน้าร้าน แต่ว่าการออกไปตั้งร้านทำคนเดียวไม่ได้เหมือนเมื่อก่อนแล้ว เลยให้พี่มาช่วย และกลายเป็นธุรกิจครอบครัว ซึ่งตอนนี้ E.HOI ก็ที่มีทั้งหน้าร้านและออนไลน์” E.HOI เปิดร้านขายตั้งแต่ 16.00 - 20.00 น. ซึ่งตอนนี้มีมีฐานลูกค้าทั้งไกลและใกล้ ฐานเดิมก็ยังสั่งช่องทางออนไลน์ ส่วนฐานลูกค้าหน้าใหม่คือพื้นที่บริเวณใกล้เคียงที่ตั้งร้าน เมื่อมีลูกค้าเพิ่มเป็นสองเท่า ก็ทำให้มีรายได้เป็นสองเท่า ซึ่งเดิมเฉลี่ยมี 20 ออเดอร์ต่อวัน ออเดอร์ก็ขึ้นมาที่วันละ 20-30 กิโลกรัมต่อวัน หรือราวๆ 40-60 ออร์เดอร์ 
“ตอนขายแบบไม่มีหน้าร้าน เราใช้ภาพเพื่อการโฆษณา ข้อเสียคือลูกค้าจะไม่เห็นเลยว่ากระบวนการการทำของเรากว่าจะได้เป็นอาหารออกไป ฉะนั้นเราจึงมีโอกาสครั้งเดียวในการนำเสนอสินค้า ถ้าผิดพลาดก็ไม่มีโอกาสแก้ตัว แต่การมีหน้าร้าน ข้อดีคือเราได้นำเสนอสินค้าโดยได้เจอหน้าลูกค้า ได้สนทนา แต่ก็แลกมากลับข้อเสียคือ สภาพอากาศ และต้นทุนเช่าพื้นที่ แต่ผลดีคือทำให้รายได้เพิ่มขึ้นเยอะมาก” 
คำแนะนำของกำลังใจสำหรับผู้ที่กำลังเริ่มต้น สำหรับผู้ที่กำลังริเริ่มสร้างร้านอาหารหรือประกอบธุรกิจของเป็นของตัวเอง คุณไอซ์ได้ฝากคำแนะนำและกำลังใจว่า “อยากให้มองว่าตัวเองถนัดอะไรก่อน หนึ่ง ต้องทำงานที่ตัวเองชอบ แล้วใกล้กับแหล่งวัตถุดิบอะไร แถวบ้านมีวัตถุดิบอะไรเด่น สามารถเอามาทำธุรกิจได้ อย่างเช่น เนื้อแดดเดียว ทำแพ็กเกจจิ้งดีๆ มีโลโก้ ทำให้น่าสนใจ รสชาติอร่อย ถ่ายรูปสวย น่ากิน น่าดึงดูด ปัจจัยพวกนี้ทำให้ธุรกิจเติบโตไปได้เอง ที่สำคัญคือความจริงใจ ไม่หลอกลวงลูกค้า” “การทำธุรกิจมีข้อดี ข้อเสีย และอุปสรรคทั้งนั้น ขายออนไลน์ ไม่มีหน้าร้าน แต่เราขายผ่านแอปพลิเคชั่นก็ต้องเสียเปอร์เซ็นต์พอๆ กับเช่าหน้าร้านเหมือนกัน วัตถุดิบที่จะขายก็ต้องศึกษาให้ดีก่อน เรียนรู้ให้ดีก่อน เพราะมีคนที่โทรมาถามไอซ์เยอะ บอกว่าอยากขายเหมือนไอซ์ แต่ไอซ์ถามกลับไปว่าคุณรู้จักวิธีการเก็บรักษาวัตถุดิบนี้หรือยัง ยังไม่มีใครบอกว่ารู้สักคนเลย เค้าแค่อยากทำ ซึ่งหากลงทุนไปไอซ์กลัวว่าจะสูญเงินเปล่า จึงอยากให้เรียนรู้ทุกอย่างด้วยความรอบคอบก่อนที่จะทำอะไร เพราะทุกวันนี้เข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่าย สามารถเรียนรู้ได้จากอินเทอร์เน็ต” 
สำรวจหัวข้อเพิ่มเติม
Deliveryสร้างอาชีพGhost Kitchenบทสัมภาษณ์ และรีวิว

Keep reading

รับแรงบันดาลใจจากเนื้อหาสำหรับร้านอาหาร

ดูบทความทั้งหมด
คุณสนใจหมวดหมู่ใด